ย้อนหลังไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 1961 ศจ.วิลเลี่ยม เอฟ. บุทเชอร์ (WILLIAM F.BUTCHER) มิชชันนารีจากคณะ Pentecostal Assemblies of Canada (P.A.O.C.) เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเผยแพร่ข่าวประเสริฐของพระเยซู โดยเริ่มพันธกิจกับคนจีนในย่านเยาวราช ห้องแคบๆบนชั้น 5 ของแฟลต 6 ชั้น ถูกใช้เป็นที่สอนภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และใช้นมัสการพระเจ้า จำนวนผู้สนใจเข้าร่วมมีมากขึ้น จนห้องที่มีขนาดเล็กเป็นทุนเดิม ไม่สามารถรองรับผู้คนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆได้ ในเวลาต่อมาจึงได้ย้ายมาเช่าตึก 3 ชั้น สองคูหาติดกัน ซึ่งแต่เดิมใช้เป็นโกดังเก็บของ บริเวณตรอกถั่วงอก วงวียน 22 กรกฎา และที่นั่นเอง “คริสตจักรพระเจ้าทรงเรียก” ได้ถือกำเนิดขึ้น ในเดือนพฤษภาคม ปี 1963
ด้วยภาระใจที่อยากเห็นงานพันธกิจในประเทศไทยเติบโตขึ้น ปี 1965 อาจารย์บุทเชอร์ เดินทางกลับไปยังประเทศแคนาดา เพื่อประชาสัมพันธ์งานพันธกิจในประเทศไทยตามที่ต่างๆ รวมไปถึงการหาทุนสร้างโรงเรียนพระคริสตธรรมในประเทศไทย ในขณะนั้น อาจารย์ดอน เชลเลนเบอร์ก เป็นผู้ดูแลพันธกิจด้านคริสตจักรต่อไป
แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็บังเกิดขึ้น ในเดือนธันวาคมปี 1965 ที่ประเทศแคนาดา อาจารย์บุทเชอร์ ได้จากไปอยู่กับพระเจ้าด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ รถที่ท่านขับ ไปชนกับรถบรรทุกแทรคเตอร์เทรลเลอร์ เนื่องจากท่านอ่อนเพลียจากการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆในงานรับใช้พระเจ้า และปัญหาสุขภาพอันเป็นผลพวงมาจากที่ท่านเคยถูกจับเป็นเชลยศึกสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นมิชชันนารีอยู่ที่ประเทศจีน
ปี 1968 ศจ.โรนัลด์ อี. ไวท์ เดินทางมายังประเทศไทย ในเดือนกรกฎาคมได้เริ่มต้นการทำงานที่ โรงเรียนพระคริสตธรรมภาคค่ำบริเวณ สุขุมวิทซอย 11 (ใช้สถานที่เดียวกับ Sharon Bible Center ซึ่งเป็นศูนย์ประกาศข่าวประเสริฐที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการประกาศฯ) มีนักเรียนรุ่นแรกทั้งหมด 5 คน (หนึ่งในนั้นคือคุณวรวิทย์ ประมุขชัย ผู้ที่เป็นทั้งนักเรียนและล่ามให้กับอาจารย์ไวท์ เป็นบุคคลซึ่งเป็นแบบอย่างในการถวายตัวรับใช้พระเจ้า)
วันที่ 11 เดือนตุลาคม ปี 1969 เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของคริสตจักร เมื่อ อาจารย์ไวท์ และสมาชิกอีก 5 ท่าน เดินทางเพื่อไปประกาศเรื่องราวพระเจ้ากับนักโทษในเรือนจำคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ในขณะที่รถยนต์แล่นไปถึงอำเภอวังน้อย จังหวัดอยุธยา รถจิ๊ป แลนด์โรเวอร์ ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง วิ่งสวนเลนมาด้วยความเร็วสูง ชนประสานงากับรถของคณะอาจารย์ไวท์เข้าอย่างจัง ทำให้ตัวถังรถฉีกขาดทันที จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น อาจารย์ไวท์ และสมาชิกคนไทยอีก 3 ท่านคือ คุณวรวิทย์ ประมุขชัย, คุณสุวัฒน์ ธีระศิลป์, คุณจุงฟัด แซ่ยับ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในครั้งนั้น โดยมีผู้รอดชีวิตอย่างเหลือเชื่อ 2 ท่านคือ คุณเตี้ยงจิว แซ่โค้ว และคุณเดชา อังคศุภรกุล ( ปัจจุบัน ศ.จ.เดชา อังคศุภรกุล และจากเหตุการ์ดังกล่าวเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ อาจารย์ มนูญศักดิ์ กมลมาตยากุล ตัดสินใจมาเชื่อพระเจ้า)
ปี 1970-ปี1971 ศจ. โรเบิร์ต เจ. อีมส์ มิชชันนารีที่เปี่ยมด้วยความรู้ และประสบการณ์ทั้งด้านการเป็นศิษยาภิบาล การก่อตั้งโรงเรียนพระคริสตธรรม ท่านเดินทางมารับหน้าที่ศิษยาภิบาล และผู้อำนวยการโรงเรียนพระคริสตธรรม แต่แล้วสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น อาจารย์อีมส์ จากไปอยู่กับพระเจ้าด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลันในปี 1971 นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของคริสตจักร
ฝันร้ายได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดูเหมือนการสูญเสียในสายตามนุษย์เป็นเรื่องยากที่จะทำใจได้ แต่พระเจ้าทรงมีแผนการดีสำหรับทุกสิ่ง การเสียชีวิตของมิชชันนารีและผู้รับใช้คนไทยไม่ได้สูญเปล่า จากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทำให้งานพันธกิจในประเทศไทยต้องล้มเลิก คณะ P.A.O.C. และพี่น้องในประเทศแคนาดา ได้รวบรวมเงินจำนวนทั้งสิ้น 2,200,000 บาท เพื่อซื้อที่ดิน 1 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวา พร้อมกับบ้านไม้ 2 หลัง ในสุขุมวิท ซอย 6 เพื่อสร้างโรงเรียนพระคริสตธรรมและคริสตจักร เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ที่เสียชีวิตทั้งหกคน (บ้านไม้ หลังหนึ่งถูกดัดแปลงเป็นคริสตจักร อีกหลังใช้เป็นบ้านพักของศิษยาภิบาล ส่วนโรงเรียนพระคริสตธรรมยังอยู่ที่เดิม เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ในการสร้างอาคารเรียน)
ในเวลานั้นมิชชันนารีรุ่นแรก ได้ร่วมกันรับใช้พระเจ้า เช่น อาจารย์ดอน เชลเลนเบิร์ก, อาจารย์เจนิส โลเว็น,อาจารย์ดอน เรย์เมอร์, อาจารย์คาร์ลสัน ยัง