การหาสาเหตุเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งในการให้คำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในกรณีที่ผู้รับคำปรึกษายังไม่คุ้นเคยกับผู้ให้คำปรึกษา ในกรณีเช่นนี้ผู้ให้คำปรึกษาควรพิจารณาแนวทางสร้างความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น และสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง ไม่เช่นนั้นเขามักจะไม่เปิดเผยปัญหาที่แท้จริง จึงต้องสังเหตุให้ดีว่าอะไรเป็นสาเหตุและอุปสรรค
ผู้รับคำปรึกษาไม่สามารถเริ่มต้นได้ คือไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นพูดถึงปัญหาของตนเองที่จุดไหนก่อน จึงควรแนะนำให้เขาเริ่มต้นในสิ่งที่ง่ายๆก่อน แล้วจึงนำมาสู่แก่นของปัญหา หรือใช้วิธีตั้งคำถามที่เขาต้องอธิบาย
ผู้รับคำปรึกษาไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงของตนเองคืออะไร สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้รับคำปรึกษาต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่างในเวลาเดียวกันจนเกิดความสับสนไม่สามารถแยกแยะได้ ซึ่งในลักษณะนี้ เขามักจะมีอาการผิดปกติทางสุขภาพปรากฎออกมาด้วย เช่น ปวดศรีษะ หงุดหงิด ระบบการย่อยผิดปกติ นอนหลับยาก เป็นต้น ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องพิจารณาว่ามีปัญหากี่อย่าง เกี่ยวข้องกันอย่างไร ปัญหาใดที่สร้างความกดดัน และควรแก้ไขปัญหาใดก่อนหลัง
ผู้รับคำปรึกษาไม่แน่ใจในความรู้ความสามารถของผู้รับคำปรึกษา หากเขาไม่แน่ใจ เขาจะไม่เปิดเผยปัญหาที่แท้จริงจนกว่าเขาจะมั่นใจ แต่หลังจากการสนทนาไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง เขาอาจเกิดความมั่นใจมากขึ้น หรือถ้าผู้ให้คำปรึกษารู้สึกว่าปัญหาของเขายากไป ก็ควรส่งต่อไปให้ผู้ที่จะช่วยเขาได้ต่อไป
ผู้รับคำปรึกษาไม่แน่ใจในทัศนะคติของผู้ให้คำปรึกษา ในตัวเขาและปัญหาของเขาซึ่งอาจเกิดจากความวิตกของเขาว่าปัญหาของตนนั้นอาจไม่สำคัญในสายตาของผู้ให้คำปรึกษาหรือวิตกว่าจะถูกต่อว่าหรือปฏิเสธ ผู้ให้คำปรึกษาจึงต้องให้เขาเกิดความมั่นใจว่าเราเข้าใจเขา ยินดีรับฟังและเห็นอกเห็นใจ
ผู้รับคำปรึกษาไม่มั่นใจในความปลอดภัย สิ่งที่ผู้รับคำปรึกษากังวลมากก็คือผู้ให้คำปรึกษาจะรักษาเรื่องราวของเขาไว้เป็นความลับได้ ผู้ให้คำปรึกษาจึงต้องสร้างความไว้วางใจในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นแก่ผู้รับคำปรึกษาให้เร็วที่สุด เพราะหากความไม่ไว้วางใจหรือรู้สึกมั่นใจในความปลอดภัยไม่เกิดขึ้น เขาก็จะไม่พูดความจริงออกมา
ผู้รับคำปรึกษารู้สึกเจ็บปวดเกินกว่าที่จะพูด ผู้ให้คำปรึกษาต้องพร้อมที่จะคอย ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความอบอุ่น และกำลังใจแก่ผู้รับคำปรึกษาจนกว่าเขาจะรู้สึกอบอุ่นใจ ปลอดภัย และเข้มแข็งพอที่จะหวนกลับไประลึกถึงเรื่องราวที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด
ผู้รับคำปรึกษาถูกกดดันให้พูด หากผู้รับคำปรึกษารู้สึกขาดเสรีภาพในการพูดอย่างเต็มที่ ผู้ให้คำปรึกษาต้องช่วยและปล่อยให้เขารู้สึกสบายใจที่จะเริ่มต้นจากเรื่องอะไรก็ได้ที่เขารู้สึกสบายใจจนกว่าเขาพร้อมที่จะเปิดเผยรายละเอียดของปัญหาด้วยความสมัครใจ ไม่ควรรวบรัดตัดบทเข้าสู่สาเหตุของปัญหาหรือสร้างความกดดันให้รู้สึกว่าถูกบังคับให้พูด
ปัญหาส่วนตัวของผู้ให้คำปรึกษา หากผู้ให้คำปรึกษาไม่ได้ทำพันธกิจนี้ด้วยความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจริง ๆ ผู้ให้คำปรึกษาประเภทนี้จะทำหน้าที่เพื่อให้งานผ่านไปเท่านั้นโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้รับคำปรึกษา
ผู้ให้คำปรึกษาไม่ยอมรับความจำกัดของตนเอง หากผู้ให้คำปรึกษามีความจำกัดในเรื่องเวลา ก็ไม่ควรเร่งเร้าเอารายละเอียดจากผู้รับคำปรึกษาโดยเฉพาะในขณะที่เขาไม่พร้อม แต่ควรยุติการให้คำปรึกษาในครั้งนั้น ๆ แล้วนัดหมายใหม่ในครั้งต่อไป หากเป็นข้อจำกัดเรื่องความสามารถต้องส่งเขาต่อให้ผู้ที่สามารถช่วยเขาได้ต่อไป
บทความโดย อ. ประยูร ลิมะหุตะเศรณี