ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่จะมุ่งมั่นและมุ่งเน้น ด้านวัตถุนิยมเป็นหลัก แม้แต่อาหารการกิน ก็มักมุ่งเน้นเรื่องคุณค่าของอาหาร กินให้ครบ 5 หมู่ของโภชนาการ สะอาดปลอดภัย ไร้สารพิษเจือปน ไร้เชื้อ ไร้โรค กินอย่างไรจึงจะพอดี กินแล้วไม่ผอม กินแล้วไม่อ้วน กินแล้วแข็งแรง กินแล้วมีอายุยืน ซึ่งทั้งหมดนั้นมุ่งเน้น ในเรื่องของอาหารบำรุงร่างกาย แต่น้อยครั้งมาก ที่เราจะพูดกัน กระตุ้นเตือนกัน ที่จะช่วยกัน ให้อาหารใจ แก่กันและกัน

ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องของ “อาหารใจ” สำหรับชีวิตครอบครัว มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะทำให้ชีวิตครอบครัวดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า มีประสิทธิภาพทั้งต่อตนเองและสังคม ในเวลาเดียวกัน ชีวิตนั้นก็จะมีความสดใส ชื่นบาน ปรารถนาที่จะสร้างสรรค์ สิ่งสวยงาม สิ่งจรรโลงโลกทุกรูปแบบ อาหารใจแตกต่างไปตามวัย ในรายละเอียดและบุคคลสำคัญที่เป็นผู้ปรุงอาหารใจให้ เนื่องจากแต่ละคน ช่วงชีวิตต้องเผชิญเหตุการณ์ และความจำเป็น แตกต่างกันไป ทั้งความสำคัญของบุคคลที่มาสัมพันธ์ มีอิทธิพลมากด้วย อาหารใจของทารก ซึ่งชีวิตเพิ่งจะเริ่มต้น ยังไม่มีเรื่องราวอะไรในชีวิตประจำวันที่ซับซ้อน ความต้องการจึงจำกัด เพียงบุคคลใกล้ชิดไม่กี่คน ซึ่งได้แก่ พ่อแม่เป็นหลัก ที่จะจัดการให้แก่ลูกการให้อาหารใจดำเนินไปตามเกณฑ์ ได้แก่ การสัมผัส การกอดรัด การโอบอุ้มด้วยความรัก ความทะนุถนอม เอาใจใส่ ให้อาหาร ให้น้ำ ให้เพียงพอกับความอิ่ม ไม่ปล่อยลูกน้อยแช่อยู่ในความเปียกชื้น หลีกเลี่ยงไม่ให้สัมผัสสิ่งอันตราย หรือ สิ่งที่ทำให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย การให้สิ่งเหล่านี้อย่างถูกเวลา และพอเหมาะพอดี ก็เป็นอาหารใจที่เพียงพอสำหรับเด็กทารก

เมื่อเด็กเติบโตขึ้น เหตุการณ์แวดล้อมหลากหลายก็ติดตามมา บุคคลแปลกหน้าเพิ่มมากขึ้น ลักษณะอาหารใจจึงต้องปรุงใหม่ แปลกขึ้น มากชนิด มากรส แปรไปตามสภาวการณ์ เพราะว่าชีวิตคนเราไม่อยู่นิ่งนั่นเอง มีสิ่งแปลกใหม่ผ่านเข้ามาให้เผชิญอยู่ตลอดเวลา เป็นต้นว่า เมื่อตอนเข้าไปในโรงเรียน อาหารใจ จะได้จากเพื่อนในวัยเดียวกันและครูที่โรงเรียน ซึ่งเพิ่มจากพ่อแม่ พี่น้องที่อยู่ในบ้าน ซึ่งมาในรูปของ การยกย่องชมเชย ความสามัคคี การยอมรับ มิตรภาพ ความเข้าใจ ความสำเร็จในกิจกรรมการเรียนและการเล่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอาหารใจทั้งสิ้น

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ความสนใจและพฤติกรรมจะเปลี่ยนไป อาหารใจก็เปลี่ยนรูปแบบไปด้วย พ่อแม่พี่น้องจะต้องปรับเปลี่ยนการให้อาหารใจแก่บุตรให้เหมาะสมตามวัย โดย มีความรัก ความปรารถนาดีเป็นหลัก อาหารใจของวัยรุ่นจะมีเรื่องของเพื่อนต่างเพศเข้ามาเกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ ความเด่น และการยอมรับในรูปแบบต่างๆ เช่น ในด้านการเรียน การกีฬา การดนตรี การพูด บุคลิกหน้าตา การแต่งตัว ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดความต้องการและการตอบสนองที่เหมาะสม การให้ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ ให้คำปรึกษา ให้อิสระในขอบเขตที่เหมาะสม เป็นอาหารใจที่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ครู อาจารย์ และ เพื่อนร่วมรุ่นจะต้องมอบให้แก่กันและกัน

เมื่อถึง วัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นวัยที่ต้องดูแลตนเองและครอบครัว หากเติบโตขึ้นมาดี มีพื้นฐานครอบครัวอบอุ่น ได้รับอาหารใจที่ดีและเหมาะสมมาโดยตลอด ก็มักจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตดี มีจิตใจเข้มแข็ง อดทน อยู่ในสังคมได้ ด้วยจิตใจที่ดีงาม มีเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี รู้จักรัก รู้จักให้อย่างเหมาะสม รู้จักปฏิเสธ รู้จักหลีกเลี่ยงสิ่งไม่ดีอย่างนุ่มนวล ความรัก ความเข้าใจระหว่างสามีภรรยาและบุตรในครอบครัว เป็นอาหารใจที่วิเศษยิ่ง

ในด้านการงาน การยอมรับและความสามัคคีในหมู่เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงานเป็นอาหารใจที่ประเสริฐสุข สิ่งเหล่านี้นำความสงบสุขมาให้แก่ครอบครัว ทั้งความราบรื่นทางการเงิน สุขภาพทางกายและใจที่ดี ก็ล้วนเป็นสิ่งประเสริฐที่ทุกคนปรารถนา ผู้ใหญ่ที่มีความสุขสามารถจะเสริมสร้างอาหารใจให้กับตนเองได้ 3 วิธี เช่น

1. รู้จักทำจิตใจให้เบิกบาน ไม่หมกมุ่นฟุ้งซ่าน วิตกจนเกินเหตุ รู้จักทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นและสังคมบ้าง พระคัมภีร์กล่าวว่า“ จงชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา…จงให้จิตใจที่อ่อนสุภาพของท่านประจักษ์แก่คนทั้งปวง องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่ใกล้แล้ว” (ฟป.4:5-6)

2. รู้จักมองโลกในแง่ดี ฝึกสนใจคนรอบข้างอย่างเป็นมิตร ฝึกรู้จักให้อภัยผู้อื่น ไม่เคียดแค้น “ อย่าตอบแทนการชั่วด้วยความชั่ว ให้อภัยเสมอ และ ให้รักแม้กระทั่งศัตรู ”

3. ฝึกให้มีอารมณ์ขันเป็นประจำ ไม่เคร่งเครียด ฝึกหัดมองให้เห็นข้อดีในข้อเสียต่างๆ หรือให้มองเห็นข้อเด่นในข้อด้อยทั้งหลาย และรู้จักหาความสุขได้ง่ายๆ จากสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา

อาหารใจสามารถจะมอบให้ผู้อื่นได้ และก็รับมาจากผู้อื่นได้ เช่นเดียวกัน 2-3 ประการ เช่น…

1. ให้ความเห็นอกเห็นใจและมิตรภาพซึ่งกันและกัน ( คส.3:12-13 )
2. ให้ความรัก ความอบอุ่น ความยอมรับ การสรรเสริญสู่กันและกัน ( คส.3:14 )
3. ให้น้ำใจ ให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นในครอบครัว ก็จะทำให้ครอบครัวมีความรัก ความสงบสุข มั่นคง ทุกคนเห็นคุณค่า และสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันอย่างดีให้แก่ลูกๆ ที่จะไม่ประพฤติตัวออกนอกลู่นอกทาง

เรียบเรียงจากบทความของ รพ. สมเด็จเจ้าพระยา โดย อ. เสาวลักษณ์ อิทธิเวชช์