ผู้ให้คำปรึกษาต้องเรียนรู้จักที่จะพิจารณาในสิ่งที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาของผู้รับคำปรึกษาแต่ไม่ได้ถูกพูดถึง ผู้ให้คำปรึกษาไม่ควรข้ามขั้นตอนนี้ไป เพราะสิ่งที่เขาไม่ยอมพูดถึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่เขาพูดถึง

ตัวอย่างคำถามสำหรับผู้ให้คำปรึกษาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาก่อนสรุปว่าสาระที่ได้ยินจากผู้รับคำปรึกษานั้นเกี่ยวข้องกับปัญหามากน้อยเพียงใด

เขาพูดเรื่องนี้ทำไม
เขาเพียงแต่อยากคุยกับเราเท่านั้นหรือไม่
เขามีความรู้สึกตามที่พูดหรือไม่
เขาต้องการความเห็นใจหรือการปลอบใจหรือไม่
เขาต้องการคำชมหรือไม่
เขากำลังกล่าวโทษตัวเองจริงหรือไม่
เขาต้องการกล่าวโทษใครหรือไม่
เขากำลังแก้ตัวหรือไม่
เขากำลังสารภาพอะไรบางอย่างหรือไม่
เขากำลังปัดความรับผิดชอบหรือไม่
เขากำลังไม่เข้าใจตัวเองหรือไม่
เขากำลังสับสนหรือไม่
เขากำลังเรียกร้องความช่วยเหลืออะไรบางอย่างหรือไม่
เขากำลังหนีความจริงอะไรบางอย่างหรือไม่ ….
นอกจากนี้ลักษณะคำพูดของผู้รับคำปรึกษาอาจจะมาในรูปของคำถามผู้ให้คำปรึกษาก็ต้องถามตัวเองเช่นกันว่า เขาถามทำไม
เขาพยายามดึงดูดความสนใจของเรา
เขาต้องการทดสอบความคิดเห็นของเรา
เขาต้องการลองภูมิเรา
เขาต้องการความแน่ใจในสิ่งที่เราเพิ่งพูดผ่านไป
เขาพยายามหันความสนใจของเราไปสู่เรื่องอื่น
เขาต้องการคำตอบจริงๆ

เวลา งานด้านการให้คำปรึกษานั้นแตกต่างจากงานด้านการอบรมสั่งสอนที่สามารถจบลงเมื่อสิ้นสุดการบรรยายในแต่ละครั้ง แต่การให้คำปรึกษานั้นจะดำเนินต่อเนื่องเป็นขบวนการ ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่จบลงในครั้งเดียวเท่านั้น เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นจะก่อตัวขึ้นทีละเล็กทีละน้อยทับถมกันจนผู้ประสบปัญหาทนไม่ไหว ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่ยาวพอสมควร ความผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นคือผู้ให้คำปรึกษาพยายามรวบรัดการแก้ไขให้เสร็จสิ้นในการให้คำปรึกษาเพียงครั้งเดียว จึงต้องพิจารณาปัญหาอย่างรอบคอบ

บทความโดย อ. ประยูร ลิมะหุตะเศรณี