กุญแจดอกสำคัญที่สุดในงานด้านการให้คำปรึกษา คือ ตัวผู้ให้คำปรึกษา เนื่องจากสถานการณ์ของผู้มารับคำปรึกษาจะดีขึ้นหรือแย่ลงนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ให้คำปรึกษา ดังนั้นผู้ให้คำปรึกษาจึงควรหมั่นสำรวจคุณสมบัติของตนเองอยู่เสมอ ตามแนวทางต่อไปนี้

ก. คุณสมบัติด้านท่าที

1. ท่าทีต่อพันธกิจในด้านนี้
ผู้ให้คำปรึกษาต้องเป็นผู้ที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อพันธกิจด้านนี้ด้วยความรักจริงๆ เพราะพันธกิจนี้เรียกร้องการลงทุนที่สูงมากในการให้การช่วยเหลือ ผู้รับคำปรึกษาโดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้รวมทั้งต้องทุ่มเทเพื่อการพัฒนาตนเองด้วย

2. ท่าทีต่อผู้มารับคำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาที่ดี ต้องไม่มีท่าทีต่อผู้มารับคำปรึกษาในแง่ลบ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
“เขาควรมีสามัญสำนึกดีกว่านี้” ผู้ให้คำปรึกษาต้องเข้าใจความจริงว่าปกติคนเราจะมีพฤติกรรมภายใต้สามัญสำนึกที่ดีแต่เมื่อมีอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้น พฤติกรรมก็จะเปลี่ยนไป ผู้ให้คำปรึกษาจึงมีหน้าที่หาสาเหตุให้พบเพื่อหาทางแก้ไข หรือป้องกันมิให้อารมณ์และพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นอีก

“สมน้ำหน้า” ท่าทีนี้เป็นลักษณะของการลงโทษ ถึงแม้ว่าผู้รับคำปรึกษาต้องรับผลความผิดบาปที่เขาทำ ผู้ให้คำปรึกษาก็ไม่ควรซ้ำเติม แต่ให้กำลังใจในการเผชิญกับผลร้ายที่เกิดขึ้น และหาช่องทางผ่อนหนักให้เป็นเบา

“เขาน่าได้รับการอบรมดีกว่านี้” ท่าทีนี้แสดงถึงการกล่าวโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้รับคำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาต้องระวังตัวที่จะไม่มีท่าทีตำหนิพ่อแม่พี่น้องของผู้รับคำปรึกษาแต่หาโอกาสให้เขาได้รับการอบรมในเรื่องต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก

“จิตใจเขาอ่อนไหวเกินไป” ท่าทีนี้อาจเกิดขึ้น เมื่อผู้รับคำปรึกษาที่มาหาเราพบกับปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการหลงเชื่อผู้อื่น ผู้ให้คำปรึกษาต้องไม่มีท่าทีที่เช่นนี้ แต่ควรระลึกว่าคนเราย่อมมีความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ต่างกัน ผู้ให้คำปรึกษาควรจะวางโครงการพัฒนาความรู้และสภาพจิตใจของผู้รับคำปรึกษาต่อไป

“เป็นตัวปัญหา” ท่าทีนี้มักเกิดขึ้นเมื่อพบกับผู้รับคำปึกษาที่สร้างปัญหาให้คนอื่น โดยที่ตัวผู้รับคำปรึกษาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น แม้เขาจะสร้างปัญหา ผู้ให้คำปรึกษาก็ไม่ควรแสดงความรังเกียจแต่ช่วยเจาะลึก เพื่อหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงให้ความช่วยเหลือต่อไป

“คนเรียกร้องความสนใจ” ความจริงทางด้านจิตวิทยาระบุว่ามนุษย์ทุกคนล้วนแต่ต้องการความรักและความสนใจจากคนอื่น เมื่อไม่ได้รับก็จะแสดงอาการเรียกร้อยความสนใจ ผู้ให้คำปรึกษาจึงไม่ควรมีท่าทีปฏิเสธ แต่ควรหาแนวทางแก้ไขและพัฒนาสภาพจิตใจเขาให้ดีขึ้น

“คนไม่เต็มบาท” ท่าทีนี้เกิดเมื่อพบกับผู้รับคำปรึกษาที่มีสติไม่สมประกอบ เป็นท่าทีที่ผู้ให้คำปรึกษาใช้เป็นสื่อเพื่อปัดความรับผิดชอบ จึงต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้น และควรให้ความช่วยเหลือตามขบวนการให้การปรึกษาแบบอุปการะและส่งต่อให้อยู่ในการดูแลของแพทย์

“คนชั้นต่ำ” ท่าทีนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ให้คำปรึกษาไม่เข้าใจความจริงเกี่ยวกับคุณค่าของความเป็นคน จึงกำหนดตามค่านิยมของสังคม เช่นฐานะอาชีพ ฯลฯ แทนที่จะพิจารณาตามมาตรฐานของพระคัมภีร์ และยื่นมือให้ความช่วยเหลือเขาด้วยความรักของพระคริสต์

ข. คุณสมบัติด้านความรู้ ความสามารถ

1. มีความรู้พื้นฐานทางด้านวิชาการเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี และถูกต้อง เพราะการทำหน้าที่ให้คำปรึกษาโดยไม่มีพื้นความรู้ที่แท้จริงนั้นจะส่งผลให้การให้คำปรึกษาดำเนินไปอย่างไม่ถูกต้องตามหลักการซึ่งอาจก่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้รับคำปรึกษาได้

2. มีความรู้พระคัมภีร์ดี และหลักศาสนาศาตร์ที่ถูกต้อง
การให้คำปรึกษาเป็นงานหนึ่งของพระวิญญาณบริสุทธิ์และพระองค์ทรงทำพันธกิจนี้ร่วมกับพระวจนะของพระเจ้า เราจึงต้องดำเนินการตามพระคำของพระองค์

3. มีความรู้พื้นฐานด้านจิตวิทยาดี
เช่น จิตวิทยาทั่วไป จิตวิทยาการเรียนรู้จิตวิทยาพัฒนาการ เป็นต้น เพื่อมีความเข้าใจในตนเอง และพฤติกรรมของตน และความเข้าใจผู้อื่นและพฤติกรรมของเขาและมีวิจารณณญาณและการตัดสินใจที่ถูกต้อง

4. มีความรู้พื้นฐานในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เช่น กฎหมายเบื้องต้น ฯลฯ
การให้คำปรึกษาเพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาหลุดจากปัญหาหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของจิตใจเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความพลาดพลั้งเข้าใจผิดเพราะการรู้เท่าไม่ถึงการ การมีความรู้พื้นฐานในเรื่องอื่นๆ จะช่วยผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยผู้รับคำปรึกษาได้

5. มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ
การเป็นผู้มีประสบการณ์มาก และหลายๆประเภท จะสามารถนำมาช่วยผู้รับคำปรึกษา ซึ่งมีปัญหาหลากหลายชนิดแตกต่างกัน

6. มีความสามารถในการรู้จักและเข้าใจพฤติกรรมของตนเอง
เพราะการที่จะเข้าใจพฤติกรรมของคนอื่นต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจตนเองก่อน เช่นเดียวกับผู้ที่ช่วยคนตกน้ำ ตนเองต้องว่ายน้ำเป็นเสียก่อน

7. มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง
มีจิตใจที่หนักแน่น ไม่อยู่ในภาวะที่เปราะบาง อ่อนไหวหรือแตกหักง่าย เมื่อได้รับการกระทบกระเทือน เพียงเล็กน้อย

8. มีความสามารถในการเข้าใจพฤติกรรมของผู้อื่น
มีความนับถือในตัวบุคคลอื่นและความเป็นปุถุชนของผู้รับคำปรึกษา

9. มีความสามารถในการยืดหยุ่น และคล่องตัวในทุกสถานการณ์
ไม่ยึด หลักการหรือทัศนะใดโดยเฉพาะ แต่เข้าใจความจริงว่าหลักการให้คำปรึกษานั้นไม่มีวิธีการใดดีหรือถูกต้องที่สุดเนื่องจากวิธีการหนึ่งอาจใช้ได้กับ บุคคลหนึ่งอย่างมีประสิทธิภาพ แต่กับอีกคนหนึ่งอาจจะใช้ไม่ได้เลย

10. มีมนุษย์สัมพันธ์ดี มีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่น และจริงใจต่อบุคคลอื่นได้ดี ตลอดจนมีความไวต่อพฤติกรรมที่สลับซับซ้อนของผู้รับคำปรึกษา

11. มีความอดทนและมีอารมณ์ขัน
มีความอดทนทั้งต่อความกดดันที่เกิดขึ้นจากงานที่ทำและจากความหยาบกระด้างหรือความไม่สุภาพของผู้รับคำปรึกษาบางคน

12. มีความสนใจคน
ให้ความสนใจในตัวบุคคลและความรู้สึกของผู้มารับคำปรึกษาและให้ความสนใจในผลประโยฃน์ของผู้มารับคำปรึกษามากกว่าสิ่งอื่น

13. มีความรับผิดชอบสูง
และต้องมีความเข้าใจในเรื่องจรรยาบรรณของการเป็นผู้ให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี

ค. คุณสมบัติด้านจิตวิญญาณ

1. ความบริสุทธิ์ผู้ให้คำปรึกษาต้องมีชีวิตที่บริสุทธิ์ทั้งกายและใจในการให้คำปรึกษาต้องไม่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งนอกจากจะช่วยผู้ให้คำปรึกษาไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนหนึ่งคนใดแล้วยังช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดความเชื่อถือและไว้ใจผู้ให้คำปรึกษาด้วย

2. ความสุภาพอ่อนน้อม
ผู้ให้คำปรึกษาต้องแสดงความสุภาพอ่อนน้อมต่อผู้รับคำปรึกษาทุกคน ทั้งทางวาจาและการกระทำ เช่นไม่แสดงอากัปกิริยารังเกียรจิผู้รับคำปรึกษาไม่ว่ากรณีใดๆ , รู้จักกาละเทศะ มีความระมัดระวังในพฤติกรรมของตนเองต่อผู้อื่นตลอดเวลา

3. ความซื่อสัตย์
ผู้ให้คำปรึกษาที่ดีต้องไม่ลำเอียงหรือเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ต้องเป็นคนตรงไปตรงมาไม่เป็นคนหน้าซื่อใจคด ไม่ควรแนะนำให้ผู้รับคำปรึกษาทำในสิ่งที่ตนเองยังทำไม่ได้ หรือมองไม่เห็นช่องทางที่เป็นไปไม่ได้

4. ความเมตตากรุณา
ผู้ให้คำปรึกษาที่ดีต้องมีความรู้สึกสงสารและเห็นอกเห็นใจผู้ที่ประสบความเดือดร้อน และมีจิตใจกว้างขวางในการให้การช่วยเหลือแก่ผู้ที่เดือดร้อนโดยไม่คำนึงว่าใครเป็นต้นเหตุหรือเกิดขึ้นจากอะไร (กท.6:1-2 ; คส.4:6)

5. ความสงบสุข
การสร้างสันติภาพเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของผู้ให้คำปรึกษา หากผู้ขอรับคำปรึกษามีปัญหาด้านความสัมพันธ์ทั้งกับพระเจ้าและกับมนุษย์ผู้ให้คำปรึกษาต้องปรารถนาให้เกิดการคืนดี ทั้งนี้ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าและกับมนุษย์ก่อน

6. ความถ่อมใจ
เป็นท่าทีจากภายใน เป็นการแสดงการยอมรับความจริงต่างๆเกี่ยวกับตนเองตามที่เป็นจริงไม่แบ่งชั้นวรรณะ ให้เกียรติผู้อื่นเสมอ ไม่ทำให้ผู้รับคำปรึกษารู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับตนเอง ความถ่อมใจจะช่วยเสริมบุคลิกของผู้ให้คำปรึกษาให้เป็นที่น่าเคารพนับถือยิ่งขึ้น

7. ความอดทน
พันธกิจในด้านการให้คำปรึกษาเป็นงานที่ต้องมีความอดทนสูง บ่อยครั้งที่ผู้ให้คำปรึกษา ต้องอดทนฟังคำบอกเล่าในเรื่องเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีกดูเป็นเรื่องที่น่าเบื่อสำหรับผู้ให้คำปรึกษา แต่ต้องอดทนฟังด้วยความสนใจ อีกทั้งต้องมีความอดทนรอคอยการเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินชีวิตของผู้รับคำปรึกษา โดยไม่เลิกล้มการให้ความช่วยเหลือ

8. ยำเกรงพระเจ้า
ผู้ให้คำปรึกษาต้องสัตย์ซื่อกับผู้รับคำปรึกษาและสัตย์ซื่อต่อตนเองและมีใจเที่ยงตรง จริงใจจึงต้องยำเกรงพระเจ้าให้มากและรับผิดชอบต่อพระองค์

9. ผลของพระวิญญาณทั้ง 9 ประการ ตาม กท.5:22-23
พันธกิจในการให้คำปรึกษาเป็นพันธกิจที่ผู้ให้คำปรึกษาต้องเสียสละและสวมลักษณะชีวิตของพระคริสต์ในการให้การช่วยเหลือผู้รับคำปรึกษา ผลของพระวิญญาณในชีวิตจะส่งเสริมการเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีและเกิดผล

ง.คุณสมบัติด้านจริยธรรม

1. เก็บความลับของผู้มารับคำปรึกษาทุกคน
ผู้ให้คำปรึกษาต้องรับผิดชอบในการเก็บข้อมูลต่างๆที่ได้รับจากผู้รับคำปรึกษาเป็นอย่างดีทั้งที่เป็นคำบอกเล่าและที่เป็นลายลักษณ์อักษร ต้องระวังไม่นำไปใช้เป็นตัวอย่างในการสอนหรือประกอบการสนทนา หรือนำไปขอคำปรึกษา/ความคิดเห็นจากผู้ให้คำปรึกษาอื่นๆ เว้นแต่ได้รับการอนุญาตแล้ว

2. ไม่พูดพาดพิงถึงบุคคลอื่นๆ ในแง่ลบ
ผู้ให้คำปรึกษามีหน้าที่ให้คำปรึกษามิใช่ทำหน้าที่ผู้พิพากษาหรือคอยวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ต้องระวังไม่ใช้วิธีสร้างความเชื่อถือให้กับตนโดยการตำหนิหรือลบหลู่ผู้อื่น หรือผู้ให้คำปรึกษาอื่นๆ หากผู้รับคำปรึกษาเป็นผู้ตำหนิเอง ผู้ให้คำปรึกษาต้องยับยั้งทันที

3. ไม่ถูกเนื้อต้องตัวผู้มารับคำปรึกษา โดยเฉพาะเพศตรงกันข้าม
ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่มีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความกดดันทางจิตใจโดยเฉพาะการสูญเสียความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่รักของตน ผู้ให้คำปรึกษาต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการแสดงความเห็นใจ ความสงสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพศตรงข้ามต้องระวังไม่เปิดช่องให้การทดลองในเรื่องเพศเกิดขึ้น บางครั้งปัญหามิได้มาจากผู้ให้คำปรึกษาเอง แต่เกิดขึ้นจากผู้รับคำปรึกษาก็ได้

4. ไม่ยั่วยุผู้มารับคำปรึกษาทุกกรณี
หากผู้รับคำปรึกษาแสดงอารมณ์บางอย่างออกมาในระหว่างการให้คำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาต้องไม่สนับสนุนอารมณ์ที่เขาแสดงออก และไม่ตั้งคำถามที่ยั่วยุให้เกิดอารมณ์ แต่ต้องระงับอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้สงบโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้

5. ไม่ทำให้ผู้รับคำปรึกษา เข้าใจว่าเราเป็นที่พึ่งเขาเท่านั้น
ผู้ให้คำปรึกษาที่ดีต้องไม่รู้สึกว่าการที่ผู้รับคำปรึกษาคนใดคนหนึ่งผละจากเราไปหาผู้ให้คำปรึกษาคนอื่นนั้น เป็นความล้มเหลว แต่พร้อมเสมอที่จะสนับสนุนผู้รับคำปรึกษาให้ไปหาผู้ที่สามารถช่วยเขาได้ดีกว่าเรา โดยไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเราต้องยึดผลประโยชน์ของผู้รับคำปรึกษาเป็นหลัก

6. มีสถานที่เหมาะสม
งานด้านการให้คำปรึกษาเปรียบเหมือนกับการผ่าตัด ห้องผ่าตัดมีความสำคัญต่อการผ่าตัดอย่างไร ห้องหรือสถานที่ที่เหมาะสมก็มีความสำคัญต่องานด้านการให้คำปรึกษาอย่างนั้น สถานที่ ที่ใช้ในการให้คำปรึกษา ไม่ควรเป็นสถานที่สาธารณะ แต่ควรเป็นห้องที่เป็นสัดส่วนเหมาะสม สะอาดเรียบร้อย ปลอดภัย ไม่อยู่ในที่ลับสายตา เก็บเสียง ไม่มีการรบกวน

7. รู้จักและยอมรับขอบเขตความสามารถของตัวเอง
ผู้ให้คำปรึกษาไม่ควรฝึนให้การช่วยเหลือแก่ผู้รับคำปรึกษาที่มีปัญหาซับซ้อนเกินกว่าที่จะช่วยเขาได้ การพยายามหน่วงเหนี่ยวผู้รับคำปรึกษาไว้ทั้งๆที่ผู้ให้คำปรึกษาไม่สามารถที่จะช่วยอะไรเขาได้นั้น เป็นการแสดงถึงความไม่จริงใจของผู้ให้คำปรึกษาที่มีต่อผู้รับคำปรึกษา การยอมรับควมจริงเกี่ยวกับขอบเขตความสามารถของตนเองนั้น นอกจากจะเป็นการแสดงความปรารถนาดีต่อผู้รับคำปรึกษาอย่างจริงใจแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงวุฒิภาวะของความเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือของผู้ให้คำปรึกษาอีกด้วย

บทความโดย อ. ประยูร ลิมะหุตะเศรณี