ขั้นเตรียม
ในการให้คำปรึกษาแต่ละครั้งควรมีการนัดหมายล่วงหน้าก่อนอย่างน้อยหนึ่งวัน เพื่อ ผู้ให้คำปรึกษาจะสามารถเตรียมตัวและมีเวลาอธิษฐานสำหรับการให้คำปรึกษาอย่างเพียงพอ
1.นัดหมาย ควรกำหนดสถานที่ เวลา อย่างเฉพาะเจาะจงและควรจะสอบถามผู้รับคำปรึกษาถึงเรื่องราวที่เขาจะปรึกษาอย่างคร่าวๆก่อน ผู้ให้คำปรึกษาควรไปถึงที่นัดหมายก่อน ไม่ควรให้ผู้รับคำปรึกษาเป็นฝ่ายรอ
2.เตรียมสถานที่ เนื่องจากการให้คำปรึกษาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ จึงควรจัดเตรียมห้องให้ดีไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ไม่อับชื้น มีนาฬิกาอยู่ในมุมที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะเห็นได้ จัดให้ ผู้รับคำปรึกษานั่งคนละฝั่งกับผู้ให้คำปรึกษาและไม่ควรให้มีการรบกวนใดๆ ระหว่างให้การปรึกษา เช่น โทรศัพท์ ฯลฯ
3.เตรียมอุปกรณ์ เตรียมพระคัมภีร์ และหนังสืออื่นๆ ที่เตรียมไว้สำหรับผู้รับคำปรึกษา ถ้ามีมากกว่า 2 เล่ม ควรจัดลำดับให้เรียบร้อย ปากกากระดาษเปล่า กระดาษเช็คหน้า ฯลฯ
4.เตรียมตัว การเตรียมตัวที่ดีที่สุดของผู้ให้คำปรึกษาคือการอธิษฐาน ถ้าผู้รับคำปรึกษาเป็นผู้ที่เคยมาแล้ว ก็ให้ทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ได้ทำไปในครั้งก่อนๆ เพื่อเริ่มการให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง หากเราไม่สามารถโยงเรื่องได้อย่างถูกต้องอาจทำให้เขารู้สึกว่า เราไม่สนใจเขาจริง เขาไม่สำคัญซึ่งจะทำให้เป็นผลเสียกับทั้ง 2 ฝ่าย
ขั้นดำเนินการ
เริ่มต้นโดยให้การต้อนรับเขาด้วยความยินดีให้เกียรติโดยการแสดงความนับถือและเกรงใจในฐานะแขกผู้มีเกียรติคนหนึ่ง
1.เริ่มต้นสนทนา ควรเริ่มต้นด้วยการทักทายปราศัย สนทนาด้วยบรรยายกาศที่อบอุ่น มีไมตรี ยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายในเรื่องกลางๆ หรือเหตุการณ์ทั่วๆไปสั้นๆ เพื่อให้เขารู้สึกสบายใจและผ่อนคลาย ลดความตื่นเต้นและอึดอัด
2.กำหนดเวลา ควรกำหนดเวลาให้คำปรึกษาโดยคำนึงถึงความเป็นได้ของทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนการใช้เวลามากน้อยเพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของปัญหา บุคคลที่มีปัญหา และเป้าหมายในการให้คำปรึกษาแต่โดยทั่วไปไม่ควรเกิน ครั้งละ 1.30 ชม.
3.เข้าสู่ประเด็นของปัญหา เมื่อทักทาย และตกลงเวลาแล้วก็ควรเข้าสู่ประเด็นของปัญหา ทันที ไม่ควรอ้อมค้อม เพราะอาจทำให้เขารู้สึกหงุดหงิดได้เพราะเขาเองพร้อมอยู่แล้ว
4.หาสาเหตุ ในการหาสาเหตุต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
สิ่งแวดล้อมของผู้รับคำปรึกษา โดยปกติปัญหาจะเกิดขึ้นโดยมีสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ได้แก่บุคคลในครอบครัว เช่น ภรรยา สามี ลูก พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ และคนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เช่น เพื่อน ครู นายจ้าง ฐานะในด้านต่างๆ เช่น การเงิน ความรู้ความสามารถ อาชีพ,สภาพสังคม บ้านพักอาศัย วัฒนธรรม ศาสนา ฯลฯ
สุขภาพของผู้รับคำปรึกษา ปัญหาหลายอย่างมาจากความผิดปกติด้านสุขภาพ เช่นคนที่การเรียนอ่อน บางครั้งสาเหตุมาจากความกดดันที่เกิดขึ้นในบ้าน หรือในสถานการศึกษา หรือมาจากความผิดปกติทางด้านสุขภาพทำให้ไม่สามารถสนใจเรื่องอื่นได้นาน หรือความสามารถในการคิดช้า ปัญหาที่เกี่ยวกับความผิดปกติด้านอารมณ์บางอย่างก็มีสาเหตุมาจากความเจ็บป่วยที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมบางต่อมในร่างกาย
สาระของปัญหา ในเรื่องนี้ผู้ให้คำปรึกษาต้องหนุนใจให้ผู้รับคำปรึกษาพูดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ การพูดนอกจากจะช่วยให้เราทำความเข้าใจกับปัญหาของผู้รับคำปรึกษาได้ดีและถูกต้องแล้ว ยังช่วยให้ผู้พูดได้รับการผ่อนคลายอีกด้วย ผู้ให้คำปรึกษาต้องพยายามทำความเข้าใจสาระที่ผู้รับคำปรึกษาพูดทุกเรื่อง ว่าเขาพูดทำไม ซึ่งแนวทางกว้างๆ ที่จะช่วยผู้รับคำปรึกษาในเรื่องนี้คือ
สังเกตุ ดูสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียง ของผู้พูดว่ามีเจตนาอะไรแฝงอยู่เบื้องหลังคำพูดเหล่านั้น ไม่ควรฟังปัญหาจากข้อมูลของผู้รับคำปรึกษาอย่างผิวเผิน เพราะท่าทีแท้จริงมักซ่อนไว้ในส่วนลึกของจิตใจจึงต้องตั้งข้อสังเกตุให้ดี
ขั้นตอนการยุติการให้คำปรึกษา
หลังจากที่ได้ข้อมูลจนเป็นที่แน่ใจแล้วว่าถูกต้องเพียงพอ ก็ถึงขั้นตอนยุติการให้คำปรึกษาดังต่อไปนี้
1.หาข้อสรุป เป็นการสรุปถึงสิ่งต่างๆ ที่ได้สนทนากันระหว่างการให้คำปรึกษาครั้งหนึ่งๆ ควรใช้คำพูดสั้นๆ ให้ได้ใจความสำคัญทั้งหมด การสรุปความที่ดีที่สุด คือให้ผู้รับคำปรึกษาเป็นผู้สรุปเอง โดยมีผู้ให้คำปรึกษาช่วยทวนซ้ำหรือเพิ่มเติมในประเด็นที่ขาดหายไป ในกรณีที่เป็นการให้คำปรึกษาครั้งสุดท้าย หลังจากที่มีการให้คำปรึกษาหลายครั้ง ควรสรุปสิ่งที่ได้ตั้งแต่แรกจนถึงครั้งสุดท้าย โดยเน้นความเข้าใจในตนเองและปัญหาที่เกิดขึ้นรวมทั้งแผนการปฏิบัติที่ได้กำหนดขึ้นในระหว่างการให้คำปรึกษา
2.หาแนวทางแก้ไข ทั้งนี้วิธีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือการเน้นถึงปัจจุบัน เพราะอดีตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และอนาคตก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ควรเน้นที่ตัวผู้รับคำปรึกษาเป็นหลัก เพราะการเน้นถึงผู้อื่นเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญปัญหาของตนเอง หรือเป็นการหลีกหนีปัญหา
3.เสนอแนวทางทางป้องกัน โดยการให้ข้อมูลรายละเอียดที่จำเป็นแก่ผู้รับคำปรึกษา เพื่อประโยชน์ในการเข้าใจถึงปัญหาของตนเองและมีแนวทางในการปฏิบัติ รวมทั้งชี้ให้เห็นข้อดีและประโยชน์ที่จะได้รับและการชี้ผลในทางลบที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจหรือการปฏิบัติเพื่อป้องกันการตัดสินใจเลือกปฏิบัติในสิ่งที่จะก่อให้เกิดปัญหาอีก
4.ประเมินผล ประเมินผลว่าการให้คำปรึกษาเกิดผลสำเร็จหรือล้มเหลว บุคคลที่ขอรับคำปรึกษาให้ความร่วมมือ และสามารถเข้าใจตนเองถูกต้องและเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของตนเอง ยอมรับสภาพความเป็นจริง มีกำลังใจที่จะเผชิญปัญหา สามารถตัดสินใจเลือกแนวทางที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา และปฏิบัติตามแนวทางในการแก้ไขปัญหา
5.การยุติการสนทนา แนวทางปฏิบัติโดยทั่วไปแล้วควรยุติการให้คำปรึกษา เมื่อได้ให้การปรึกษาตามขั้นตอนของแต่ละครั้งอย่างสมบูรณ์แล้ว และเป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้ด้วยกัน ทั้งนี้การยุติการสนทนา ควรเป็นไปในท่าทีที่อบอุ่น เป็นมิตรและเอื้อเฟื้อโอกาสที่จะพบกันได้อีกในครั้งต่อไป
6.นัดหมายครั้งต่อไป ควรให้ผู้รับคำปรึกษาเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะมาพบในครั้งต่อไปหรือไม่ ในกรณีที่เขาไม่ต้องการรับคำปรึกษาแล้ว ก็ควรบอกว่าหากต้องการรับการปรึกษาอีกก็ยินดี ในกรณีที่ต้องขอรับคำปรึกษาครั้งต่อไปให้นัดวันเวลาสถานที่ที่ทั้ง 2 ฝ่าย สะดวกอย่างชัดเจน
7.การบันทึกข้อมูล ผู้ให้คำปรึกษาต้องระมัดระวังในการบันทึกข้อมูลการให้คำปรึกษาแต่ละครั้ง ทั้งการสนทนาและบทสรุปทุกขั้นตอนอย่างละเอียดครบถ้วน แต่ไม่ควรทำการบันทึกในระหว่างการให้คำปรึกษา หรือต่อหน้าผู้รับคำปรึกษา ไม่ควรแอบซ่อนเครื่องบันทึกเสียงเพื่อบันทึกข้อมูล และควรเปิดเผยให้ผู้รับคำปรึกษารู้ว่ามีการบันทึก สรุปผลการให้คำปรึกษาทุกครั้งโดยทางอ้อม เช่น นำเอกสารมาทบทวนเรื่องที่ได้ให้คำปรึกษาในครั้งที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบความทรงจำ เป็นต้น
หมายเหตุ
ขบวนการให้คำปรึกษาดังกล่าวนี้อาจจะไม่สามารถทำให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละครั้ง ผู้ให้คำปรึกษาควรจะพิจารณาว่าควรจะใช้เวลาในการให้คำปรึกษากี่ครั้งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของปัญหาซึ่งไม่เหมือนกัน
บทความโดย อ. ประยูร ลิมะหุตะเศรณี