การกำหนดเป้าหมายของผู้ให้คำปรึกษาต้องไม่ถูกกำหนดโดยความต้องการหรือความพอใจของผู้มารับคำปรึกษา แต่ต้องคำนึงถึงชีวิตที่ปกติสุขของมนุษย์โดยทั่วๆไปในมุมมองของพระคัมภีร์กล่าวคือความปกติสุขในชีวิตของคน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีวัตถุหรือปัจจัยต่างๆ ตามค่านิยมของโลกฝ่ายวัตถุอย่างครบครัน เพราะเราพบความจริงว่า แม้คนหนึ่งคนใดสามารถบรรลุความสำเร็จด้านวัตถุอย่างครบครัน ปัญหาที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากก็ยังมาสู่คนนั้นไม่น้อยไปกว่าคนอื่นๆ
ดังนั้น การที่จะนำความปกติสุขที่แท้จริงมาสู่ชีวิตของผู้มารับคำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาต้องมีเป้าหมาย
1. นำผู้รับคำปรึกษามาสู่การคืนดีกับพระเจ้า
คือนำเขามาสู่ความจริงเกี่ยวกับความผิดบาปของเขา ให้เขาถ่อมใจสารภาพความผิดบาปในชีวิตต่อพระเจ้า กลับใจใหม่ และเชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์ ต้อนรับพระองค์เข้ามาเป็นเจ้าชีวิต ในขั้นแรกนี้จึงเป็นการช่วยผู้มารับคำปรึกษาได้พบชีวิตใหม่ในองค์พระเยซูคริสต์เจ้า
2. นำผู้รับคำปรึกษามาสู่ความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า
คือนำเขามาสู่ความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์พระเยซูคริสต์เจ้าในชีวิตส่วนตัวของเขา เช่นการใช้เวลากับพระเจ้า การศึกษาพระคัมภีร์ การอธิษฐานและการนมัสการ เป็นต้น ในขั้นตอนนี้จึงเป็นการช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเจริญเติบโตขึ้นสู่ความเป็นผู้ใหญ่ในพระเยซูคริสต์
3. นำผู้รับการปรึกษามาสู่การดำเนินชีวิตตามน้ำพระทัยของพระเจ้า
คือให้มุ่งสู่การดำเนินชีวิตในด้านต่างๆให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ทั้งการดำเนินชีวิตท่ามกลางคริสตชนและในสังคมที่ไม่เป็นคริสเตียน โดยเน้นที่ความถูกต้องทั้งด้านศีลธรรม และจริยธรรมตามหลักการพระคัมภีร์
4. นำผู้รับการปรึกษามาสู่การรู้จัก,เข้าใจตนเอง ยอมรับตนเอง
คือช่วยให้ผู้รับคำปรึกษารู้จัก และเข้าใจตนเองในด้านต่างๆ เช่นอารมณ์ สติปัญญา ความสามารถ ความเชื่อ ของประทาน ฯลฯ และช่วยให้เขาเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเองมากขึ้น ยอมรับตนเอง มีความภูมิใจในตัวเอง ช่วยชี้ให้เห็นความเป็นจริงเกี่ยวกับตนเองที่เป็นจริง (Real self) กับตนเองในอุดมคติ (Ideal Self)
5.นำผู้รับการปรึกษามาสู่การรับใช้พระเจ้า เป็นพระพรของพระเจ้า สำหรับคนอื่น ต่อๆ ไป
คือช่วยให้ผู้รับคำปรึกษารู้จักการใช้ชีวิตของเขาให้เป็นประโยชน์/พระพรต่อผู้อื่น ช่วยให้เขารู้จักศักยภาพของตนเอง และสามารถที่จะนำเอาศักยภาพและความสามารถต่างๆในตัวของเขามาใช้ในทางสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคมอย่างเต็มที่
สรุป จากเป้าหมายที่กล่าวทั้ง 5 ประการ ล้วนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของผู้รับคำปรึกษา โดยพื้นฐานของพัฒนาการเริ่มต้นจากการช่วยผู้รับคำปรึกษาให้เป็นตัวของตัวเองในด้านต่างๆ เช่นด้านการใช้ความคิด การใช้เหตุผล การตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ การเรียนรู้ที่จะพึ่งพระเจ้าด้วยตัวเอง
บทความโดย อ. ประยูร ลิมะหุตะเศรณี