การกำหนดความหมายในงานด้านการให้คำปรึกษานั้นสามารถ ทำได้หลายแง่มุมด้วยกัน ขึ้นอยู่กับผู้กำหนดความหมายว่าจะเน้นไปทางด้านใด

1. เน้นที่ผู้รับคำปรึกษา
ความหมายที่กำหนดขึ้นจะออกมาในรูปของการเปลี่ยนแปลงต่างๆในตัวของผู้รับคำปรึกษา เช่นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้รับคำปรึกษาซึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์/ความรู้สึก ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อตนเองหรือต่อผู้อื่น เช่นผู้รับคำปรึกษาเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตนเองจนทำให้ไม่สามารถนำสิ่งที่ดีต่างๆของตนออกมาใช้เพื่อก่อให้เกิดผลดีต่อตนเองได้ ผู้ให้คำปรึกษาก็ต้องทำหน้าที่ช่วยให้เขาเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเองตามความเป็นจริงและสามารถนำสิ่งที่เขามีอยู่มาใช้ในการพัฒนาชีวิตของตนต่อไป

2. เน้นที่ผู้ให้คำปรึกษา
ความหมายที่กำหนดขึ้นจะเน้นเกี่ยวกับบทบาทต่างๆในการให้คำปรึกษาของผู้ให้คำปรึกษาโดยมีผู้รับคำปรึกษาเป็นกุญแจดอกสำคัญในการกำหนดขอบเขตบทบาทต่างๆของผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งต้องไม่เป็นการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาของผู้รับคำปรึกษาแต่ช่วยผู้รับคำปรึกษาให้เห็นและเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของเขา,ช่วยให้เห็นช่องทางที่จะแก้ไขและเผชิญกับปัญหานั้นรวมทั้งชี้ให้เห็นช่องทาง การดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพในพระเยซูคริสต์ และมีชีวิตที่เจริญเติบโต

3. เน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้คำปรึกษากับผู้รับคำปรึกษา
การกำหนดความหมายจะคลุมไปถึงลักษณะของความสัมพันธ์ คุณภาพ ขอบเขตของความสัมพันธ์ และอาจรวมถึงระยะเวลาของความสัมพันธ์ด้วย อันเป็นการเปิดโอกาสแก่ผู้ให้คำปรึกษาในการช่วยผู้รับคำปรึกษา ซึ่งการให้คำปรึกษาจะได้ผลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสัมพันธภาพของทั้งสองฝ่าย

4. เน้นที่ขบวนการในการให้คำปรึกษา
การกำหนดความหมายจะมุ่งไปที่ขั้นตอนการให้คำปรึกษากับลักษณะของการให้คำปรึกษา เช่นหากลักษณะการให้คำปรึกษาเป็นแบบการสอน ก็จะเน้นที่การเตรียมการสอน เนื้อหา อุปกรณ์ ขั้นตอนการสอน จำนวนคนที่จะเรียน เป้าหมายของการสอน/การให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลโดยเป้าหมายที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปเพราะลักษณะปัญหาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

สรุป นอกจากการกำหนดความหมายทั้ง 4 ประการนี้ ยังมีแนวทางอื่นๆอีก เช่นการกำหนดความหมายตามขบวนการในการเปลี่ยนแปลงของผู้มารับคำปรึกษาหรือตามผลของการให้คำปรึกษาและอื่นๆ อีกตามปรัชญาของผู้ให้คำปรึกษาที่แตกต่างกัน โดยล้วนมีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ผู้มารับคำปรึกษาในการพัฒนาตนเองและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

บทความโดย อ. ประยูร ลิมะหุตะเศรณี