ในการให้คำปรึกษาแต่ละครั้งผู้ให้คำปรึกษาต้องคอยป้องกันตนเองให้พ้นจากปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากงานด้านงานการให้คำปรึกษานี้มีอันตรายที่ไม่ปรากฎเป็นตัวเป็นตนอย่างชัดเจนแฝงอยู่รอบด้าน ดังนั้นผู้ให้คำปรึกษาต้องมีความระมัดระวังในเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้

1. ต้องระวังท่าทีต่อผู้รับคำปรึกษาที่มีปัญหาเกี่ยวกับความผิดทางศีลธรรม
ไม่ดูถูก แสดงกิริยาเหยียดหยาม รังเกียจแต่ให้เกียรติ และรับรองเขาในฐานะของคน

2. ต้องระวังท่าทีต่อผู้มารับคำปรึกษาที่ไม่ทำตามคำแนะนำของเรา
ไม่ผืนใจ หรือบังคับเขาให้ทำตาม แต่เคารพในสิทธิในการที่เขาจะรับหรือปฏิเสธ

3. ต้องระวังคำพูดที่นำมาใช้อ้างอิง
ผู้ให้คำปรึกษาต้องระมัดระวังคำพูด และสิ่งต่างๆ พร้อมทั้งเหตุการณ์หรือบุคคลต่างๆที่นำมาใช้อ้างอิงในการให้คำปรึกษาแต่ละครั้งเป็นอย่างดี และต้องแสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่พูด

4. ต้องระวังในเรื่องการฟังความฝ่ายเดียว
ผู้ให้คำปรึกษาต้องระวังในเรื่องการับข้อมูลต่างๆ จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไปจนทำให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจฝ่ายนั้น จนกลายเป็นการลำเอียงหรือเข้าข้างซึ่งทำให้เสียกระบวนการของการให้คำปรึกษา และก่อให้เกิดปัญหา (ความเสียหายที่คาดไม่ถึงแก่ผู้ให้คำปรึกษาได้)

5. ต้องระวังในเรื่องการสรุปความ
ต้องไม่สรุปเร็วเกินไป อาจก่อให้เกิดความความผิดพลาดในการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ผู้ให้คำปรึกษาต้องเรียนรู้ที่จะอดทนในการฟัง และต้องฟังด้วยความสนใจ อย่ากลัวเสียเวลา เพราะยิ่งฟังมากโอกาสที่จะสรุปความอย่างถูกต้องก็มีมากขึ้นแล้วพิจารณาสิ่งที่ได้ยินอย่างรอบคอบก่อนสรุป

6. ต้องระวังในเรื่องการวบรวมข้อมูล
คืออาจได้ข้อมูลไม่สมบูรณ์เนื่องจากผู้รับคำปรึกษาไม่กล้าเปิดเผย เพราะยังไม่แน่ใจ/วางใจผู้ให้คำปรึกษา หรือเกิดจากความบกพร่องของผู้ให้คำปรึกษาที่ไม่สนใจฟังอย่างดี ทำให้จับใจความไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจน

7. ต้องระวังในเรื่องการเข้าไปพัวพันกับปัญหาของผู้มารับคำปรึกษา
เพราะจะทำให้ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นปัญหาของผู้ให้คำปรึกษา เนื่องจากโดยปกติผู้รับคำปรึกษาที่มีปัญหาหนักใจมากๆ มักจะไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้ให้คำปรึกษาเพราะความกดดันที่มีอยู่ ผู้ให้คำปรึกษาจึงต้องกล้าปฏิเสธและรู้ว่าอะไรควรไม่ควรเพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

8. ต้องระวังในเรื่องการวางตัวเป็นกรรมการ
คือมีหน้าที่คอยห้ามไม่ให้คู่กรณีชกต่อยกันในเวลาที่ไม่ควรจะชก และให้สัญญาณชกในเวลาที่เห็นว่าสมควรจะชก แล้วเป็นผู้ตัดสินว่าฝ่ายใดแพ้หรือชนะ แต่ควรจดจ่อกับการแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น

9. ต้องระวังในเรื่องความสัมพันธ์กับผู้มารับคำปรึกษา
โดยเฉพาะเพศตรงข้าม ผู้ให้คำปรึกษาต้องกำหนดขอบเขตและรูปแบบของความสัมพันธ์ โดยเริ่มจากการวางตัวอย่างเหมาะสมของผู้ให้คำปรึกษา ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งสุดท้าย ต้องระวังไม่ให้ความสงสารเห็นใจทำให้รูปแบบของความสัมพันธ์เปลี่ยนไป นอกเหนือจากการให้คำปรึกษาแล้วผู้ให้คำปรึกษาไม่ควรทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับผู้รับคำปรึกษาโดยเด็ดขาด

10. ต้องระวังในเรื่องการรักษาความลับของผู้มารับคำปรึกษา
โดยปกติแล้วผู้ให้คำปรึกษาไม่ได้มีความตั้งใจจะนำความลับของผู้รับคำปรึกษาไปเปิดเผยต่อผู้อื่น แต่เนื่องจากลักษณะงานนี้ทำให้มีโอกาสพบกับผู้ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันจึงอาจเล่าเรื่องของอีกผู้หนึ่งให้ฟังเพื่อให้เขาดีขึ้น ผู้ให้คำปรึกษาจึงต้องระวัง และอธิษฐานขอการช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

11. ต้องระวังในเรื่องขอบเขตความสามารถของตนเอง
ผู้ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทุกคนต่างก็มีขอบเขตความสามารถที่จำกัดในด้านเวลา ฯลฯ หากไม่ตระหนัก จะทำให้เราไม่ส่งผู้รับคำปรึกษาต่อไปให้บุคคลอื่นที่มีความสามารถและความพร้อมสำหรับปัญหาของเขาในเวลาอันควร

12. ต้องระวังในเรื่องการวิเคราะห์ปัญหา
ผู้ให้คำปรึกษาต้องระวังเรื่องการเน้นปัญหาไปที่ด้านจิตวิญญาณอย่างเดียวหรือมากเกินไป การติดตามผลของ แกรี่ ดับเบิ้ล ยู คูณ ได้สรุปองค์ประกอบของวงจรชีวิตไว้ 4 ด้านด้วยกัน และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับด้านในด้านหนึ่งก็จะมีผลกระทบไปสู่ด้านอื่นๆ ทุกด้าน จึงต้องแยกให้ออกอย่างชัดเจนว่าเขากำลังประสบปัญหาด้านใด เพื่อจะให้ความช่วยเหลือในด้านนั้นๆ

13. ต้องระวังในเรื่องความสะอาดของผู้ใหคำปรึกษา
ต้องแต่งตัวให้สะอาดและเรียบร้อย ต้องแต่งตัวให้เหมาะสม ระวังเรื่องกลิ่นปาก กลิ่นตัว หรือสิ่งที่ทำให้เกิดความรำคาญ ยั่วยวน เป็นอุปสรรค ต่อการให้คำปรึกษา

14. ข้อควรระวังอื่นๆ นอกเวลาให้คำปรึกษา
ต้องมีชีวิตที่เป็นแบบอย่าง ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระคัมภีร์ มีชื่อเสียงดี มีชีวิตที่ติดสนิมทกับพระเจ้า มีมนุษย์สัมพันธ์ดี เปิดเผยเป็นกันเอง จริงใจ มีจริยธรรม

บทความโดย อ. ประยูร ลิมะหุตะเศรณี