บทวิเคราะห์คำอ้างของพระเยซู

คำอ้างที่ยิ่งใหญ่เกินลักษณะธรรมดาของมนุษย์ เป็นคำท้าทายสำคัญที่เราทุกคนควรสนใจเป็นพิเศษ เพราะมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตของเรา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อวิเคราะห์คำอ้างของพระเยซูคริสต์แล้ว เราสามารถสรุปแนวทางที่เป็นไปได้ของคำอ้างนี้อย่างน้อย 3 ประการ คือ

คำอ้างเป็นความเท็จ

ผู้ที่มีความเห็นว่า สิ่งที่พระเยซูสอน หรือตรัสนั้น เป็นความเท็จ เขาย่อมจะต้องพยายามหาเหตุผล หรือหลักฐานมายืนยันคำกล่าวของเขา แต่ผู้เขียนคิดว่าเขาคงต้องพบปัญหาหนัก เพราะยากที่ใครจะหาเหตุผลทำนองนั้นมาสนับสนุนคำกล่าวหาของเขาได้

อย่างไรก็ตาม ขอให้เรามาพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นนี้กันโดยละเอียด สมมติว่า สิ่งที่พระเยซูคริสต์ตรัสมาทั้งหมดนั้นเป็นความเท็จจริง ๆ ก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้อีก 2 ทาง คือ พระองค์รู้ว่าพระองค์กล่าวเท็จ หรือ พระองค์ไม่รู้ว่าพระองค์กล่าวเท็จ

ก. พระองค์รู้ว่าพระองค์กล่าวเท็จ
หากพระองค์กล่าวเท็จทั้งที่รู้ ก็แสดงว่าพระองค์ตั้งใจโกหก และเป็นนักโกหกระดับโลก หรือเราอาจประณามพระองค์ เป็นปิศาจจอมกะล่อนก็ไม่ผิด เพราะพระองค์หลอกลวงคนทั้งโลก

หรือเราอาจสรุปว่าพระองค์เป็นคนโง่อย่างยิ่ง เพราะผลสุดท้าย ผู้นำสมัยนั้นได้ประหารชีวิตของพระองค์เสีย ซึ่งเท่ากับว่าพระองค์ยอมตายเพื่อคำโกหกที่ตนเองปั้นแต่งขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ใครๆก็รู้ว่าเป็นการกระทำที่โง่สิ้นดี

แต่คงมีน้อยคนนักที่เห็นด้วยว่าพระเยซูคริสต์เป็นคนโง่ เพราะโดยทั่วไปแล้ว แม้คนที่ไม่เชื่อว่าพระเยซูคริสต์เป็นพระเจ้า ก็ยังยอมรับ และยกย่องว่าพระองค์เป็นบรมครู และเป็นนักสอนศีลธรรมชั้นเยี่ยม แม้คุณเองก็อาจจะยอมรับพระองค์ในลักษณะเดียวกัน

แต่น้อยคนจะตระหนักว่า การยอมรับพระองค์เป็นบรมครูโดยที่ไม่ยอมรับความเป็นพระเจ้าของพระองค์นั้น เป็นการขัดแย้งกันเอง เพราะพระเยซูคริสต์จะเป็นบรมครูได้อย่างไรกัน หากพระองค์จงใจโกหกในส่วนสำคัญที่สุดของคำสอนของพระองค์ นั่นก็คือ การประกาศว่าตนเองเป็นพระเจ้า ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็น

ซี เอส ลิววิส นักวรรณกรรมผู้ยิ่งใหญ่ และอดีตศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ให้ทรรศนะที่น่าฟังในเรื่องนี้ว่า เขาพยายามห้ามไม่ให้ใครพูดถึงเรื่องของพระเยซูอย่างเหลวไหล เช่น พูดว่า “ข้าพเจ้ายอมรับว่าพระเยซูเป็นอาจารย์สอนศีลธรรมที่สำคัญคนหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมรับคำอ้างที่ว่าท่านเป็นพระเจ้า” ข้อนี้อย่าพูดดีกว่า เพราะถ้ามนุษย์ธรรมดาคนใดพูดอย่างที่พระเยซูพูดนั้น เขาก็ไม่ใช่อาจารย์ หรือนักสอนศีลธรรมสำคัญอะไรเลย

คุณต้องเลือกเอาข้างหนึ่ง คุณเชื่อว่าพระองค์เป็นบุตรของพระเจ้า หรือเป็นคนวิกลจริต ถ้าคุณเชื่ออย่างแรก คุณก็จะต้องกราบลงแทบพระบาทของพระองค์ และยอมรับว่าพระองค์เป็นพระเจ้า

แต่ถ้าคุณเชื่ออย่างหลัง คุณก็จะกล่าวหาพระองค์ว่าเป็นคนอย่างไรก็ได้ แต่ขออย่าได้พูดว่าพระองค์เป็นเพียงนักสอนศาสนาที่สำคัญเท่านั้น เพราะพระองค์ไม่ได้มีพระประสงค์เพียงเท่านั้นเลย

ข. พระองค์ไม่รู้ว่าพระองค์กล่าวเท็จ

นั่นเท่ากับว่า พระเยซูคริสต์เข้าใจตนเองผิดถนัด สำคัญตนว่าเป็นพระเจ้าทั้งที่ไม่ได้เป็น พระองค์ก็เข้าข่ายคนเสียสติ หรือวิกลจริต คล้ายกับคนไข้โรคจิตในโรงพยาบาลประสาท ซึ่งหลายคนในนั้นชอบอ้างว่าตนเป็นผู้ยิ่งใหญ่ หรือผู้มีชื่อเสียงคนโน้น คนนี้

แต่ถ้าเราพิจารณาจากชีวิตที่บริสุทธิ์ของพระองค์ และคำสอนอมตะที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม อีกทั้งผลงาน ตลอดจนคุณงามความดีที่ประจักษ์แก่ชาวโลกทุกยุคทุกสมัยแล้ว ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า พระองค์ไม่ได้เป็นคนเสียสติแต่อย่างใด

ยิ่งถ้าได้ศึกษาชีวิตของสาวกที่ใกล้ชิดพระองค์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เรามั่นใจในข้อนี้มากขึ้น เพราะคนที่ติดตามคนบ้า จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากบ้าเหมือนกัน แต่ชีวิตของสาวกพระเยซูคริสต์ส่อถึงความเป็นผู้มีคุณธรรมสูง ซื่อสัตย์ เสียสละ มีอุดมการณ์ที่แน่ชัด ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อความจริงที่ตนยึดถือ เราทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้จากประวัติศาสตร์สากล และจากประวัติศาสตร์คริสตจักรด้วย

โดยเหตุผลดังกล่าว เราจึงไม่อาจกล่าวว่าพระเยซูคริสต์เป็นคนวิกลจริต แต่ในทางตรงกันข้าม พระองค์เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และรู้ว่าพระองค์มาในโลกนี้ด้วยวัตถุประสงค์ใด

คำอ้างเป็นตำนานที่เชื่อไม่ได้

มีบางท่านให้ข้อคิดว่า  คำบันทึกเกี่ยวกับคำอ้างของพระเยซูคริสต์เป็นตำนาน  ในลักษณะนิยายที่เชื่อถือไม่ได้  โดยให้เหตุผลว่า แท้จริงแล้วพระเยซูคริสต์ไม่เคยอ้างเลยว่าพระองค์คือพระเจ้า  แต่สาวกที่สัตย์ซื่อของพระองค์ในศตวรรษที่ 3 และ 4 อยากให้เรื่องราวของพระเยซูคริสต์น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น  จึงได้พยายามแต่งเรื่องเพิ่มเติมให้ดูสมจริงสมจัง  เพื่อว่าเมื่อคนอ่านแล้วจะได้มีความเลื่อมใสศรัทธาในตัวพระองค์มากขึ้น  เมื่อเป็นเช่นนี้  ย่อมหมายความว่า  คริสตศาสนาตั้งอยู่บนรากฐานของการโกหกพกลม

ในปัญหานี้  ผู้เขียนขออ้างถึงศาสตราจารย์ พอล ลิตเติ้ล  ซึ่งเขียนไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือ Know Why You Believe หน้า 18 ว่า

“ไม่มีเหตุผลใดให้เชื่อว่าเอกสารดังกล่าวฉบับใดถูกเขียนขึ้นหลัง ค.ศ. 70  และเป็นเรื่องเหลือเชื่อว่าตำนานของพระเยซูในลักษณะเอกสารดังกล่าวจะเผยแพร่ออกไป และมีแรงประทับใจถึงเยี่ยงนั้นได้ โดยไม่มีความจริงเป็นพื้นฐาน  เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้พอ ๆ กับที่จะไม่มีใครในสมัยนี้เขียนชีวประวัติอดีตประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ ว่าท่านได้ประกาศตนเป็นพระเจ้า  ยกความผิดของมวลมนุษย์ และได้ฟื้นขึ้นจากความตาย  เรื่องเช่นนั้นจะไปไม่ได้สักกี่น้ำ  เพราะคนจำนวนมากที่รู้จักรูสเวลต์ก็ยังอยู่”

ดังนั้น  ทฤษฎีที่ว่า เรื่องของพระเยซูคริสต์ในเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงตำนาน จึงใช้ไม่ได้  เนื่องจากเหตุผลตามที่กล่าวมาแล้ว ว่าต้นฉบับของเอกสารดังกล่าวเขียนขึ้นในเวลาที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์

เราอาจจะยกตัวอย่างในประเทศไทย เพื่อให้เข้าใจดียิ่งขึ้น สมมติว่า มีผู้เลื่อมใสศรัทธาในตัวอดีตนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จำนวนหนึ่ง  มาประกาศต่อหน้าสาธารณชนว่า  ท่านจอมพบสฤตดิ์ ขณะมีชีวิตอยู่ได้อ้างว่าตนคือพระเจ้า  เป็นผู้สามารถยกโทษความผิดบาปของมนุษย์  ทำการอัศจรรย์นานัปการ และในที่สุดได้เป็นขึ้นจากความตาย ฯลฯ

คุณคิดว่าถ้าสิ่งที่กล่าวมาไม่ได้เกิดขึ้นจริง  คำเล่าลือนี้จะกระจายไปได้ไกลสักแค่ไหน  ตอบง่าย ๆ คือไปไม่ได้ไกลแน่ ๆ  เพราะคนที่รู้จักจอมพลสฤษดิ์ในปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่  ย่อมต้องมีผู้ไม่เห็นด้วยลุกขึ้นประกาศคัดค้านว่า  สิ่งที่ผู้เลื่อมใสจอมพลสฤษดิ์กล่าวมานั้น ไม่มีมูลความจริง  เพราะเรารู้จักท่านจอมพลผู้นี้ขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ เหตุผลอีกประการหนึ่งที่เราไม่อาจเชื่อได้ว่า เรื่องราวของพระเยซูคริสต์เป็นตำนานที่พวกสาวกแต่งขึ้น  เพราะเราไม่เห็นว่ามีแรงจูงใจอะไรทำให้พวกเขาต้องทำเช่นนั้น ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ทั่วไป จะพบว่า การมาเป็นคริสเตียนในระยะต้น ๆ ศตวรรษนั้น หมายถึงอันตรายต่อชีวิต  หลายท่านคงจะเคยอ่าน หรือเคยชมภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องราวในสมัยนั้นที่ชาวคริสต์ต้องถูกทรมานอย่างเหี้ยมโหดทารุณ  โดยจักรพรรดิของโรมันหลายองค์ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเชื่อถือ

เช่นเดียวกัน  การที่นักโบราณคดีในยุคปัจจุบันยืนยันว่าเอกสารบันทึกชีวประวัติของพระเยซูคริสต์ทั้งสี่เล่มนี้ ล้วนเขียนขึ้นภายใน ค.ศ. 70 นั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก  เพราะเมื่อเอกสารที่ว่านี้แพร่กระจายออกไป  ประกอบกับเรื่องของพระเยซูคริสต์ที่สาวกประกาศไปทั่วทุกหนทุกแห่งในช่วงเวลานั้น  พวกที่ต่อต้านกลุ่มชาวคริสต์ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งพวกยิว และพวกโรมันในสมัยนั้น  ย่อมจะไม่ปิดปากเงียบโดยไม่พูดอะไรเลย  สามัญสำนึกบอกเราว่า พวกเขาต้องลุกขึ้นตอบโต้ยืนยันข้อเท็จจริงเพื่อหักล้างคำประกาศของเหล่าสาวกอย่างแน่นอน  ฉะนั้น ความเงียบของพวกเขาจึงแสดงให้เห็นถึงการยอมรับ และยอมจำนนต่อความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ผู้เขียนขออ้างบันทึกของนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของโลกผู้หนึ่ง  คือ Flavius Josephus (เกิด ค.ศ. 37)  ท่านไม่ใช่คริสเตียน  แต่ได้บันทึกไว้ในเอกสารเชิงประวัติศาสตร์ ชื่อ Antiquities XVIII 33 เกี่ยวกับเรื่องของพระเยซูคริสต์  ความว่า

“ในครั้งนั้น … มีเยซูผู้ปราดเปรื่อง (ซึ่งที่จริงแล้วเราเรียกท่านว่าเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง)  ท่านเป็นผู้ทำการมหัศจรรย์  เป็นครูของเหล่าคนที่รับความจริงด้วยความชื่นชม  ท่านได้ชักนำคนจำนวนมาก  รวมทั้งพวกยิว และผู้ที่ไม่ได้เป็นยิว ให้เชื่อว่าท่านเป็นพระคริสต์  และเมื่อปีลาตได้ตัดสินให้ท่านถูกตรึงบนกางเขน ตามคำยุยงส่งเสริมของคนสำคัญในหมู่พวกเรา (ชาวยิว)  เหล่าคนที่รักท่านมาแต่ต้นก็ไม่ได้ละทิ้งท่าน  เพราะในวันที่สาม ท่านได้ฟื้นขึ้น และแสดงให้พวกเขาเห็นว่าท่านมีชีวิตอยู่  ดังที่พวกผู้พยากรณ์ได้ทำนายล่วงหน้า ถึงเรื่องเหล่านี้  และถึงการมหัศจรรย์นานัปการเกี่ยวกับท่าน  และคริสตชนซึ่งได้รับเชื่อตามท่าน ก็ยังคงสืบสายอยู่จนทุกวันนี้” หรือหากจะถามว่า “เป็นไปได้ไหม ที่พวกสาวกของพระเยซูคริสต์แต่งเรื่องของพระเยซูคริสต์ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องโกหก  แต่กลับยอมตายเพื่อเรื่องโกหกของตนเอง”  คนย่อมตอบได้ว่าไม่มีเหตุผล และไม่มีแรงจูงใจเพียงพอ ในทางตรงกันข้าม  การที่สาวกจำนวนมากยอมตายเพื่อพระนามของพระเยซูคริสต์  ก็เพราะพวกเขามั่นใจอย่างไม่มีข้อสงสัย ว่าพระเยซูคริสต์ คือองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ ที่ตัวเขารู้จักดี

ท่านอัครทูตยอห์น  ได้เขียนไว้ในจดหมายฝากของท่าน เมื่อประมาณปลายศตวรรษที่หนึ่ง  ซึ่งได้ยืนยันถึงข้อเท็จจริงนี้ว่า

ซึ่งมีตั้งแต่ปฐมกาล ซึ่งเราได้ยิน ซึ่งเราได้เห็นกับตา ซึ่งเราได้พินิจดู และจับต้องด้วยมือของเรานั้นเกี่ยวกับพระวาทะแห่งชีวิต (และชีวิตนั้นได้ปรากฏ และเราได้เห็น และเป็นพยาน และประกาศชีวิตนิรันดร์นั้นแก่ท่านทั้งหลาย ชีวิตนั้นได้ดำรงอยู่กับพระบิดาและได้ปรากฏแก่เราทั้งหลาย) ซึ่งเราได้เห็นและได้ยินนั้น เราก็ได้ประกาศให้ท่านทั้งหลายรู้ด้วย เพื่อท่านทั้งหลายจะได้ร่วมสามัคคีธรรมกับเรา เราทั้งหลายก็ร่วมสามัคคีกับพระบิดา และกับพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์” (1ยอห์น 1:1-3)

ยิ่งกว่านั้น ถ้าเราคำนึงถึงมาตรฐานทางศีลธรรม กับคุณธรรมของสาวกด้วยแล้ว  ก็ยิ่งทำให้เรามั่นใจได้ว่า ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับตัวสาวกนั้น เป็นไปไม่ได้

คำอ้างเป็นความจริง

หากไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะยอมรับความเป็นไปได้ในข้อ 1 และ 2 (คำอ้างเป็นความเท็จ กับคำอ้างเป็นตำนานที่เชื่อไม่ได้) เราก็มีทางเลือกอีกทางหนึ่ง คือ คำตรัสของพระองค์เป็นความจริง และเป็นความจริงอันสำคัญที่ทำให้เราต้องตัดสินใจบางสิ่งบางอย่างให้กับชีวิตของเรา นั่นคือ เราจะยอมรับ หรือปฏิเสธว่า พระเยซูคริสต์เป็นพระเจ้า และจะยอมรับ หรือปฏิเสธคำสอนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ระหว่างพระองค์กับเรา ซึ่งหมายความว่า เราต้องรับผิดชอบต่อผลการตัดสินใจของเราด้วย ไม่ว่าผลนั้นจะเป็นอย่างไร

แต่อย่างน้อยที่สุดเวลานี้ คุณต้องตัดสินใจในทางใดทางหนึ่ง เกี่ยวกับความเป็นพระเจ้าของพระองค์

จากหนังสือ เรื่อง “เยซูคือใคร”

สมาคมนักศึกษาคริสเตียนไทย (นคท.)