ต้นกำเนิดของความบาป

ต้นเหตุความบาปของจักรวาลได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อดาวประจำวัน(มารซาตาน) ได้ประกาศเป็นปฎิปักษ์ต่อพระเจ้า ตามที่บันทึกไว้ใน อสย.14 :12- 14 จากนั้นมันก็ถูกขับลงมในโลกนี้ และชักชวนมนุษย์ให้หลงทำความบาปตามมันไปด้วย ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ปัญหาหนึ่งที่มีคนมักถามว่า “ทำไมพระเจ้าผู้บริสุทธิ์ขนาดที่ ทอดพระเนตรการชั่ว หรือจะมองดูการณ์ผิดไม่ได้  ” จึงยอมให้ความบาปเข้ามาในโลกนี้ ปัญหานี้ตอบไปก็คงจะยืดยาว ก็ขอตอบสรุปๆ ว่า พระเจ้าทรงสร้างอาดัมในครั้งแรกนั้น เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ที่สุด และทรงประทานให้เขามีเสรีภาพด้วย ดังนั้นอาดัมจึงมีสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ในการเลือกเขาจะเลือกเชื่อฟัง หรือขัดขืนพระเจ้าก็ได้ และเพื่อให้มนุษย์ได้ใช้สิทธิของเขาอย่างเต็มที่ พระเจ้าจึงทรงสร้างต้นไม้ขึ้น 2 ต้น ต้นหนึ่งเป็นต้นไม้แห่งชีวิต ส่วนต้นหนึ่งเป็นต้นไม้แห่งความสำนึกในความดี และชั่ว ต้นแรกพระเจ้าไม่ห้าม ส่วนต้นที่ 2 นั้น พระเจ้าตรัสว่า “เจ้าอย่ากิน ถ้าเจ้ากินวันใด เจ้าจะตายในวันนั้น ” ดังนั้นอาดามจึงต้องเลือกเอาระหว่างความตายกับชีวิตดู ปฐก.2: 8-9 ,16,17 แต่น่าเสียดายที่บรรพบุรุษของเราได้เลือกเอาการขัดขืนพระเจ้า นี่เองเป็นต้นเหตุที่ความบาปที่ได้ย่างกรายเข้ามาในโลก

พระเยซูคริสต์ทรงสอนว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า ทุกคนที่ทำบาปก็เป็นทาสบาป” ยน 4 :34 เมื่ออาดัม และเอวาทำบาป ทั้งสองจึงตกเป็นทาสของบาปตามกฎของพระคัมภีร์ พ่อแม่ที่เป็นทาส ลูกที่ออกมาก็จะต้องเป็นทาสด้วย อพย.21: 3-6 ซึ่งตรงกับกฏหมายลักษณะทาสของไทยซึ่งระบุว่า ถ้าพ่อแม่เป็นทาส น้ำเงินขายตัวเป็นทาส และแม่ก็เป็นทาสน้ำเงินเหมือนกัน ลูกที่เกิดมาจะต้องเรียกว่า “ลูกทาสในเรือนเบี้ย”และเป็นทาสมาตั้งแต่กำเนิด กษัตริย์ดาวิดได้กล่าวว่า “ข้าพระองค์ถือกำเนิดมาในความผิดบาป และมารดาตั้งครรภ์ข้าพระองค์ในบาป” สดด.51: 5 และท่านเปาโลกล่าวว่า “บาปได้เข้ามาในโลกเพราะคน ๆ เดียว” รม.5:12 นี่คือการสืบเนื่องของความบาปของมนุษย์โลก

คำจำกัดความของความบาป

พระคริสตธรรมคัมภีร์ได้ให้คำจำกัดของคำว่า “บาป” ไว้หลายอย่างด้วยกัน ใน 1 ยน. 5: 14 กล่าวว่า “การอธรรมทุกอย่างเป็นบาป” คำจำกัดความนี้ เป็นคำจำกัดความชนิดรวบยอด เพราะชี้ให้เห็นว่า ขึ้นชื่อว่าการอธรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพียงน้อย หรือใหญ่โตเพียงใด ก็เป็นความบาปเช่นเดียวกันในสายพระเนตรพระเจ้า มก.7 :20 – 23

1 ยน. 3 :4 “ผู้ที่กระทำบาปก็ประพฤติผิดธรรมบัญญัติ บาปเป็นสิ่งที่ผิดธรรมบัญญัติ” การทำผิดธรรมบัญญัติเป็นการฝ่าฝืน หรือ การละเมิด ต่อธรรมบัญญัติของพระเจ้า เป็นการล่วงข้ามขอบเขตที่พระเจ้าทรงวางไว้ จะล่วงมาก หรือ น้อย ก็เป็นความบาปดุจกัน “เพราะว่าผู้ใดรักษาธรรมบัญญัติได้ทั้งหมด แต่ผิดอยู่ข้อเดียว ผู้นั้นก็เป็นผู้ผิดธรรมบัญญัติทั้งหมด ด้วยว่าพระองค์ผู้ได้ตรัสว่า เจ้าอย่าล่วงประเวณีผัวเมียเขา ก็ได้ตรัสไว้ด้วยว่า เจ้าอย่าฆ่าคน แม้ท่านไม่ได้ล่วงประเวณีแต่ได้ฆ่าคน ท่านก็เป็นผู้ละเมิดธรรมบัญญัติ ยก. 2: 10 -11

ตามพระธรรม ยด.4: 17 “ผู้ใดรู้อะไรเป็นความดี และไมได้กระทำ คนนั้นจึงมีบาป” เปรียบเทียบ ลก. 12 47 48 “บ่าวนั้นที่ได้รู้ใจนาย และมิได้เตรียมตัวไว้ มิได้กระทำตามใจนาย จะต้องถูกเฆี่ยนมาก แต่ผู้ที่มิได้รู้ และได้กระทำสิ่งซึ่งสมจะถูกเฆี่ยน ก็ถูกเฆี่ยนน้อย” ยน. 9: 41

ท่านเปาโล กล่าวไว้ใน รม.14: 23 ว่า การกระทำ ใด ๆ ที่ได้เกิดจากความเชื่อมั่นก็เป็นบาปทั้งสิ้น เปรียบเทียบ ยน. 3: 18 ผู้ที่มิได้วางใจก็ต้องถูกพิพากษาลงโทษอยู่แล้ว เพราะเขามิได้วางใจในพระนามพระบุตรองค์เดียวของพระเจ้า ” และ ยน. 16: 9 “ความผิดนั้นคือ เพราะเขาไม่ได้วางใจในเรา” การกระทำที่ขัดต่อกฎของความเชื่อเป็นบาปทั้งสิ้น การไม่เชื่อพระเจ้าก็เป็นบาปด้วย

นอกจากนั้นพระคริสตธรรมคัมภีร์ยังได้ให้คำจำกัดความไว้ใน สภษ.24 : 9 ว่า “การคิดประดิษฐ์ความโง่เป็นบาป ” เปรียบเทียบ รม. 1: 21-22 “เพราะถึงแม้ว่าเขาทั้งหลายได้รู้จักกับพระองค์เจ้าแล้ว เขาก็มิได้ถวายเกียรติแด่พระองค์ให้สมกับที่ทรงเป็นพระเจ้า หรือหาได้ขอบพระคุณไม่ แต่เขากลับคิดในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ และจิตใจโง่เขลาของเขาก็มืดมัวไป เขาอ้างตัวว่าเป็นคนมีปัญญา เขาจึงกลายเป็นคนโง่เขลาไป และเขาได้เอาพระสิริของพระเจ้าผู้เป็นอมตะมาแลกกับรูปมนุษย์ที่ต้องตาย หรือรูปนก หรือรูปสัตว์จตุบาท และสัตว์เลื้อยคลาน อสย. 44:18-20

คำว่า ” บาป ” ในภาษาอังกฤษ “ซิน” แปลว่าผิดที่หมาย ซึ่งหมายถึงการเข้าไม่ถึงมาตรฐานของพระเจ้า มาตรฐานของพระเจ้าคือ “ท่านทั้งหลายจงเป็นคนดีรอบคอบเหมือนอย่างพระบิดาของท่านผู้สถิตย์ในสวรรค์เป็นผู้ดีรอบคอบ มธ. 5: 48

ผลของความบาป

ใน ปฐก.3: 16-17 “พระองค์ตรัสแก่หญิงนี้ว่า เราจะเพิ่มความทุกข์ยากลำบากขึ้นมากมาย ในเมื่อเจ้ามีครรภ์และคลอดบุตร ถึงกระนั้นเจ้าก็ยังปรารถนาสามี และเขาจะปกครองตัวเจ้า” พระองค์ตรัสแก่อาดัมว่า เพราะเจ้าเชื่อฟังคำพูดของภรรยา และกินผลไม้ที่เราห้าม แผ่นดินจึงต้องถูกสาปเพราะตัวเจ้า เจ้าจะต้องหากินบนแผ่นดินด้วยความทุกข์ลำบากจนตลอดชีวิต

อ่านปฐก.6: 5 ,11-13 เปรียบเทียบ รม. 3: 10 – 18 เราจะเห็นว่าบาปได้เปลี่ยนธรรมชาติของมนุษย์ให้กลายเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด มันทำให้มนุษย์ตกต่ำจนกลายเป็นคนที่ไม่น่านับถือ เป็นเหตุให้มนุษย์ทำสงคราม ฯลฯ

ยน. 5 :14 “ภายหลังพระเยซูได้ทรงพบคนนั้นในบริเวณพระวิหารและตรัสกับเขาว่า นี่แนะเจ้าหายโรคแล้ว อย่าทำบาปอีก มิฉะนั้นเหตุร้ายกว่านั้นจะเกิดกับเจ้า “จากข้อนี้แสดงให้เห็นว่า บาปทำให้ชายคนนี้เจ็บป่วย รม. 5: 12 “เหตุฉะนั้นเช่นเดียวกับที่บาปได้เข้ามาในโลกเพราะคน ๆ เดียว และความตายก็ได้แผ่ไปถึงมวลมนุษย์ทุกคน เพราะมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป ” รม. 6 :23 ” เพราะค่าจ้างของความบาปคือความตาย ” บาปได้นำความตายมาสู่มนุษย์ พระวจนะของพระเจ้าได้ให้ความจริงว่า “ชีวิตใดทำบาปก็จะพบความตาย อสค.18 :4,20 ทั้งนี้เพราะ “เหล็กไนของความตาย คือ ความบาป” 1 คธ. 15: 56

นับตั้งแต่อาดัมทำบาปก็ ” มีกำหนดสำหรับมนุษย์ไว้แล้วว่าจะต้องตายหนหนึ่ง” ฮบ. 9: 27 ด้วยเหตุนี้เองความตายจึงเป็นสิ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป

บาปที่ยกไม่ได้

พระเยซูตรัสว่า “ความผิดบาป และคำหมิ่นประมาททุกอย่างจะทรงโปรดยกให้มนุษย์ได้ เว้นแต่คำหมิ่นประมาทพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงโปรดยกให้มนุษย์ไม่ได้ ผู้ใดจะกล่าวร้ายบุตรมนุษย์ จะโปรดยกให้ผู้นั้นได้แต่ผู้ใดจะกล่าวร้ายพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงโปรดยกให้ผู้นั้นไม่ได้ ทั้งในยุคนี้ และยุคหน้า มธ.12: 31 32 และท่านมาระโกได้บันทึกให้เราเข้าใจชัดเจนว่า “ที่ตรัสอย่างนั้นก็เพราะเขาทั้งหลายว่า พระองค์มีผีโสโครกเข้า” มก. 3: 30 ข้อนี้ควรเป็นข้อที่เราพึงระมัดระวังมาก เพราะเป็นเรื่องที่มีอันตรายมาก โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่สนใจเรื่องพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพราะคัมภีร์สอนว่าเราควรรู้จักสังเกตุวิญญาณ

และท่านยอห์นก็สอนว่า “อย่าเชื่อวิญญาณเสียทุกวิญญาณ แต่จงพิสูจน์วิญญาณนั้น ๆ ว่ามาจากพระเจ้าหรือไม่” 1 ยน.4: 1 ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยเราจึงไม่ควรด่วนตัดสินใจว่าวิญญาณนั้นๆ เป็นวิญญาณที่มาจากที่ใด จงดูผลที่เกิดขึ้นจากการนั้น “ท่านจะรู้จักเขาได้ด้วยผลของเขา มธ. :16 ,17,18,19,20

ฮร. 10: 26,28-31 มีเนื้อความว่า “เมื่อเราได้รับความรู้เรื่องความจริงแล้วแต่เรายังขืนทำผิดอีก เครื่องบูชาลบบาปนั้นก็จะไม่มีเหลืออยู่อีกเลย ..คนที่ฝ่าฝืนบัญญัติของโมเสสนั้น ถ้ามีพยานสักสองสามปาก ก็ต้องตายโดยปราจากเมตตา ท่านทั้งหลายคิดดูซิว่าคนที่เหยียบย่ำพระบุตรของพระเจ้า และดูหมิ่นพระโลหิตแห่งพันธสัญญา ซึ่งชำระเขาให้บริสุทธิ์ว่าเป็นสิ่งชัวช้า และขัดขืนพระวิญญาณผู้ทรงพระคุณนั้น ควรจะถูกลงโทษมากยิ่งกว่าคนเหล่านั้นสักเท่าใด”

จากข้อพระธรรมนี้ชี้ให้เห็นว่า การขัดขืนความจริง และไม่รับการตักเตือนของพระวิญญาณตลอดจนการไม่ยอมรับการรักษาจากพระโลหิตของพระเยซูคริสต์ เป็นบาปที่ไม่สามารถยกโทษให้ เพราะทำให้เครื่องบูชาไถ่บาปเป็นหมันไป

บาปที่นำไปสู่ความตาย

” บาปที่นำไปสู่ความตายก็มี ข้าพเจ้ามิได้ว่าให้อธิษฐานในเรื่องบาปเช่นนั้น การอธรรมทุกอย่างเป็นบาป แต่บาปที่ไม่ได้นำไปสู่ความตายก็มีอยู่ ” 1 ยน.5 :16,17 เป็นการยากที่จะระบุลงไปว่าอะไรเป็นบาปที่นำไปสู่ความตาย ท่านยากอบ กล่าวว่า”เมื่อตัณหาเกิดขึ้นแล้วก็ทำให้เกิดบาป และเมื่อบาปเจริญเต็มที่แล้วก็นำไปสู่ความตาย ยด. 1: 14 นั่นแสดงว่ามีบาปอยู่หลายระดับ เพราะบาปมักจะเกิดขึ้นครั้งแรกแต่น้อย และค่อย ๆ เติบโต ขึ้น จนเมื่อโตเต็มที่ก็ออกผลเป็นความตาย

เท่าที่ศึกษาในพระคริสตธรรมคัมภีร์ จะเห็นว่าบาปที่นำไปlสู่ความตายมักจะเป็นบาปในการขาดการถวายเกียรติแด่พระเจ้า ดูโมเสส อธม.20:10-13 .27: 12-14 ,ฉธบ.12: 48-51 บุตรของเอลีทั้งสอง ดู1 ซมอ.2: 17,25,29-30 หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ บาปฐานขัดคำสั่ง หรือคดีกบฎ เช่น บาปของอาคาน

กจ.5 :1-11 ได้กล่าวถึงว่า อานาเนีย และซัปฟีราได้มุสาต่อพระวิญญาณ

1 คร.11: 10 บาปฐานไม่ถือพิธีศีลมหาสนิทตามอย่างควร บาปเหล่านี้เป็นบาปนำไปสู่ความตายเท่าที่พระคัมภีร์บอกไว้

ความตาย

กล่าวโดยทั่วไปว่า พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ วิญญาณ จิตใจ ร่างกาย จึงกล่าวได้ว่า สามส่วนนี้จะทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติในโลกนี้ 1 ธส.5: 23

เมื่อมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาให้ประกอบด้วย 3 ส่วนดังกล่าวแล้ว อะไรตาย อะไรยังเหลืออยู่ โดยทั่วไป เรามักจะเข้าใจว่า “ความตาย” คือ การสิ้นสุดของความเป็นอยู่ แต่ความตายที่กล่าวไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์หาได้มีความหมายเช่นนั้นไม่ เพราะพระคริสตธรรมคัมภีร์ได้เปิดเผยให้เรารู้ว่า ” ความตายเป็นเพียงการย้ายที่อยู่ของวิญญาณเท่านั้น ลก. 8:53-55 ได้บันทึกไว้ว่า “คนทั้งหลายก็พากันหัวเราะเยาะพระองค์ เพราะเขารู้ว่า เด็กนั้นตายแล้ว ส่วนพระเยซูทรงจับมือเด็กคนนั้นตรัสว่า ลูกเอ๋ยจงลุกขึ้นเถิด แล้ววิญญาณจิตก็กลับมาในเด็กนั้น เขาลุกขึ้นเดินทันที

กจ. 20:9 – 10 “ชายหนุ่มคนหนึ่งเชื่อยูทุโฆนั่งอยู่ที่หน้าต่าง ง่วงเต็มที และเมื่อเปาโลสั่งสอนช้านานคนนั้นก็โงกพลัดตกจากหน้าต่างนั้นชั้นที่ 3 เมื่อยกขึ้นมาก็เห็นว่าตายเสียแล้ว ฝ่ายเปาโลจึงลงไปก้มตัวกอดผู้นั้นไว้แล้วว่า “อย่าตกใจไปเลย ด้วยว่าชีวิต ยังอยู่ในตัวเขา” คำว่าชีวิตในที่นี้ ในภาษากรีกเป็นคำเดียวกับคำที่ใช้ใน 1 ธส. 5: 23 ซึ่งแปลว่า “จิตใจ” อันเป็นที่ตั้งของความรู้สึกนึกคิด ดังนั้นจึงลงความเห็นว่า “ความตายเป็นการย้ายที่อยู่ของจิตใจหรือชีวิต”

พระคัมภีร์ได้ชี้ให้เห็นความตายฝ่ายร่างกายไว้ใน ปฐก. 3 :14 ซึ่งว่า “เจ้าต้องหากินด้วยเหงื่ออาบหน้าจนเจ้ากลับเป็นดินไป เพราะเราสร้างเจ้าจากดิน เจ้าเป็นผงคลีดิน และจะต้องกลับเป็นผงคลีดินดังเดิม” ใน ปฐก. 12: 7 “เมื่อผงคลีกลับเป็นดินอย่างเดิม และจิตวิญญาณกลับสู่พระเจ้าผู้ประทานให้มานั้น” และท่านเปาโลกล่าวไว้ใน 2 คร. 5: 1,8,9 ว่า “ถ้าเรือนดินคือร่างกายของเรานั้นพังทลายเสีย เราก็ยังมีที่อาศัยซึ่งพระเจ้าทรงโปรดประทานให้ เราปรารถนาจะอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้ามากกว่าอยู่ในร่างกายนี้ เหตุฉะนั้นเราตั้งเป้าของเราว่าจะอยู่ในกายนี้ก็ดี หรือไม่อยู่ก็ดี เราก็จะทำตัวให้เป็นที่พอพระทัยพระองค์

ตาม ปฐก. 12 :7 ได้กล่าวว่า “เมื่อผงคลีกลับเป็นดินอย่างเดิม และจิตวิญญาณกลับสู่พระเจ้าผู้ประทานมานั้น และ ยน. 2 : 26 ” กายที่ปราศจากจิตวิญญาณนั้นไร้ชีพแล้ว”

พระคัมภีร์ชี้ให้เห็นว่า ด้วยเหตุแห่งความตายทุกอย่างเป็นผลเนื่องมาจากความผิดบาปของมนุษย์ รม.5: 12 สอนว่า “บาปได้เข้ามาเพราะ คนเดียว และความตายก็เกิดมาเพราะบาปนั้น และความตายก็ได้แผ่ไปถึงมวลมนุษย์ทุกคน เพราะมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป” และ ค่าจ้างของความบาป คือ ความตาย ” (รม.6 : 21 )และยังสอนอีกว่า”เหล็กไนของความตาย คือ ความบาป (1 คธ.15: 56) ดังนั้นมีข้อกำหนดสำหรับมนุษย์ไว้แล้วว่าจะต้องตายหนหนึ่ง (ฮร. 9: 27 )

วิญญาณจิตหลังความตายฝ่ายร่างกาย

เราได้ศึกษาแล้วว่าความตายไม่ใช่การสิ้นสุดของจิตวิญญาณ การตายเป็นแต่การย้ายที่อยู่ของจิตวิญญาณเท่านั้น จึงมีปัญหาเกิดชึ้นอีกว่า เมื่อมนุษย์ตายฝ่ายร่างกายแล้ว วิญญาณและจิตของมนุษย์จะไปอยู่ที่ไหน อ่าน ลก.16: 19-31 เราจะพบการตายของลาซารัส และเศรษฐี

วิญญาณจิตของลาซารัสไปอยู่ที่อกของอับราฮัม ส่วนวิญญาณจิตของเศรษฐีปอยู่แดนมรณา ระหว่างสองดินแดนนี้มีเหวใหญ่ตั้งขวางอยู่

พระคัมภีร์กล่าวถึงความตายว่าอย่างไร

พระคริสตธรรมคัมภีร์ชี้ให้เห็นถึง ความตาย 3 อย่างด้วยกัน

-การตายฝ่ายวิญญาณ (ตายเพราะการล่วงละเมิด และการบาป) อ.ฟ. 2 :1

-การตายฝ่ายร่างกาย ฮบ. 2 : 14

-การตายครั้งที่ 2 วิวรณ์ 21: 4 ซึ่งแต่ละอย่างมีความหมายอย่างเดียวกัน คือ การแยกออก หรือย้ายที่อยู่ของวิญญาณและความรู้สึกนึกคิด (จิต)

เรื่องความตายฝ่ายวิญญาณนั้นได้บันทึกไว้ใน ปฐก.2: 12,17 “พระเจ้าทรงตรัสแก่มนุษย์ว่า บรรดาผลไม้ทุกอย่างในสวนนี้เจ้ากินได้ทั้งหมด เว้นแต่ต้นไม้แห่งความสำนึกในความดี ละความชั่ว ผลของต้นไม้นั้นอย่ากินเพราะวันใดที่เจ้าขืนกิน เจ้าจะต้องตายแน่ และ”พระเจ้ามิใช่มนุษย์จึงมิได้มุสาและไม่ได้เป็นบุตรมนุษย์จึงไม่ต้องกลับใจ ที่พระองค์ตรัสไปแล้ว พระองค์จะมิได้ทรงกระทำตามที่พระองค์ทรงลั่นวาจาแล้ว จะไม่ทรงกระทำให้สำเร็จหรือ
กดว. 23 :19 ดังนั้นพระองค์ทรงตรัสว่า ” ในวันที่เจ้าขืนกิน เจ้าจะต้องตายแน่” และมนุษย์สองคนแรกได้ขืนกิน เขาจึงต้องตายแน่ แต่ในสายตาของมนุษย์เขาหาได้ตายในวันนั้นไม่ แต่ถึงกระนั้นในสายพระเนตรพระเจ้าเขาตายเสียแล้ว ความตายนี้แหละที่พระคัมภีร์เรียกว่า ” การตายฝ่ายวิญญาณ ” เพราะทันทีที่เขาทั้งสองกินผลไม้นั้นเข้าไป สัมพันธภาพอันสนิทสนมระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ก็ได้ขาดสะบั้นลงทันที การตายฝ่ายวิญญาณ ก็คือ การที่วิญญาณได้ถูกแยกออกจากพระเจ้าผู้เป็นแหล่งชีวิต ยน. 1:4

ใน ปฐก. 3 : 8 เวลาเย็นวันนั้น เขาทั้งสองได้ยินเสียงของพระเจ้าเสด็จดำเนินอยู่ในสวน ชายนั้นกับภรรยาก็หลบซ่อนตัวอยู่ในหมู่ต้นไม้ ให้พ้นจากพระพักตร์พระเจ้าสามสัมพันธ์ที่ขาดลงนั่นแหละ ทางด้านศาสตร์เราเรียกว่า “ตายฝ่ายวิญญาณ” คือ วิญญารหมดความสัมพันธ์กับพระเจ้า ความตายชนิดนี้บันทึกไว้ใน อฟ.2: 1,2 ว่า พระองค์ทรงกระทำให้ท่านทั้งหลายมีชีวิตอยู่ แม้ว่าท่านตายแล้วด้วยการละเมิด และการบาป ” ดู คส.2: 13 ด้วย ,อฟ. 4 :18 ได้เรียกความตายว่า “เขาอยู่ห่างจากชีวิตที่มาจากพระเจ้า”

ตาม อฟ. 4:17- 19 ได้ชี้ให้เราเห็นว่า รอบ ๆตัวเรานั้นประกอบด้วยคนที่ตายแล้วฝ่ายวิญญาณทั้งสิ้น จึงเป็นภาพที่น่าสมเพชยิ่ง และการที่จะพ้นจากฐานะของคนที่ตายแล้วฝ่ายวิญญาณมีอยู่ทางเดียว คือ เราต้องเชื่อข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์ พระองค์ตรัสว่า ” เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าผู้ใดฟังคำของเรา และวางใจในพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา ผู้นั้นจะมีชีวิตนิรันดร์ และไม่ถูกพิพากษา แต่ได้ผ่านพ้นความตายไปสู่ชีวิตแล้ว ยน. 5: 24 ” พระองค์ทรงกระทำให้ท่านทั้งหลายมีชีวิตอยู่ แม้ว่าท่านตายแล้วด้วยการล่วงละเมิด ละการบาป ” อฟ.2: 1

การตายหลังพระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์

ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ ท่านเปาโลกล่าวว่า “ฝ่ายกายของพระองค์จึงสิ้นพระชนม์ แต่ฝ่ายวิญญาณทรงคืนพระชนม์ และโดยทางวิญญาณของพระองค์ได้เสด็จไปประกาศพระวจนะแก่วิญญาณที่ติดคุกอยู่ 1 ปต. 3: 14-19 และใน อฟ. 9: 8,9 กล่าวว่า “เหตุฉะนั้นครั้นพระองค์เสด็จขึ้นไปนั้น จะหมายความว่าอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากว่าพระองค์ได้เสด็จลงไปสู่เบื้องต่ำของแผ่นดินโลกแล้วด้วย..” ดังนั้นภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ ผู้เชื่อที่ตายในพระคริสต์จะไปอยู่กับพระองค์บนเมืองบรมสุขเกษม ส่วนผู้ที่ยังไม่เชื่อก็ต้องลงไปสู่แดนมรณาตามเดิม

จากเรื่องของเศรษฐี และลาซารัส ใน ลก. 16 :19-30 ทำให้เรารู้ว่า เมื่อมนุษย์ตายฝ่ายร่างกายแล้ว วิญญาณและจิตหาได้ตายไม่ ยังมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนอย่างเดิมทุกประการ ร่างกายเท่านั้นที่เน่าเปื่อยส่วนวิญญาณจิตนั้นออกจากร่างกายไปสู่ฐานะใหม่ และการตายของคริสเตียนและชาวโลกจึงไม่เหมือนกัน สำหรับคริสเตียนเรารู้ว่า เมื่อเราออกจากร่างกายนี้แล้ว เราจะไปอยู่กับพระเจ้าในเมืองบรมสุขเกษม ตามที่บันทึกไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ว่า “เรารู้ว่า ถ้าเรือนดิน คือกายของเรานี้พังทลายเสีย เราก็ยังมีที่อาศัยซึ่งพระเจ้าทรงโปรดประทานให้ ที่ไม่ได้สร้างด้วยมือมนุษย์ แต่ตั้งอยู่เป็นนิตย์ในสวรรค์ …เรามีความมั่นใจ และเราปรารถนาจะอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้ามากกว่าอยู่ในร่างกายนี้ (2 คธ. 5; 1 , 8) และใน ฟป.1 :21 ,23 ว่า ” สำหรับข้าพเจ้านั้น การมีชีวตอยู่ก็เพื่อพระคริสต์ และการตายก็ได้กำไร…ข้าพเจ้ามีความปราถนาที่จะจากไปเพื่ออยู่กับพระคริสต์ซึ่งประเสริฐกว่ามากนัก ” ดังนั้นคริสเตียนแท้ที่เข้าใจเรื่องนี้ จึงไม่กลัวตายเลย

ในทรรศนะของพระคริสตธรรมคัมภีร์ การตายฝ่ายร่างกายของคริสเตียนเป็นเหมือน “การนอนหลับพักผ่อนเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไรเลย ทั้งนี้เพราะพระคริสต์ได้ทรงทำลายผู้ที่มีอำนาจแห่งความตาย คือมารเสียแล้ว ละได้ทรงช่วยคนเหล่านั้นให้พ้นจากการเป็นทาสชั่วชีวิต เพราะเหตุกลัวความตาย ฮบ.2: 14 ,2 ปต.13,14,2 ทธ.4: 6-4

ส่วนความตายของผู้ไม่เชื่อเป็นการสูญเสียทั้งหมดที่มีอยู่ เป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัว น่าหวาดหวั่นและน่าสยอง

แม้ว่าพระคริสตธรรมคัมภีร์จะกล่าวว่า มีข้อกำหนดสำหรับมนุษย์ไว้แล้วว่าจะต้องตายหนหนึ่ง (ฮบ. 4: 29 )แต่คริสเตียนทุกคนยังมีความหวังว่า เราจะได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดนี้ ทั้งนี้เพราะท่านเปาโลกล่าวไว้ใน 1 คร. 15: 51 ว่า “ดูก่อนท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีความล้ำลึกที่จะบอกแก่ท่าน คือว่า เราจะไม่ล่วงหลับหมดทุกคน แต่เราจะถูกเปลี่ยนใหม่หมด ธส. 4 :15-17 ทั้งนี้ก็เพราะในวันนั้น พระเยซูจะเสด็จมา พระองค์จะทรงกำจัดความตายให้หมดไป 1 คร. 15: 51 ในวันนั้นผู้เชื่อทุกคนจะได้รับการเปลี่ยนแปลงและไม่ต้องตายฝ่ายร่างกายเลย

ความตายครั้งที่ 2 ในพระธรรมวิวรณ์ได้เปิดเผยใหเเห็นว่า มีความตายอีกอย่างที่น่าสะพรึงกลัว และมีอันตรายอย่างยิ่ง นั่นคือนรกนั่นเอง ใน ว.ว.21: 8 กล่าวว่า “แต่คนขลาด คนไม่เชื่อ คนที่น่าเกลียดชัง คนที่ฆ่ามนุษย์ คนล่วงประเวณี คนใช้เวทย์มนต์ คนไหว้รูปเคารพ และคนที่พูดมุสานั้น มรดกของเขาอยู่ในบึงไฟ และกำมะถันที่กำลังไหม้อยู่นั้น นั่นคือความตายครั้งที่สอง นั่นคือวิญญาณจิตถูกแยกจากพระเจ้าตลอดเป็นนิตย์

นรก

นับวันความเชื่อถือเรื่องนรกกำลังจะหมดไป เพราะคนรุ่นใหม่เห็นว่า นรกเป็นเรื่องเหลวไหล มีไว้สำหรับคนโง่เท่านั้น ควรเลิกเชื่อถือกันเสียที ความคิดเช่นนี้เองที่ทำให้มนุษย์อยู่อย่างน่ากลัวมาก และทำความชั่วร้ายต่าง ๆ อย่างหน้าตาเฉย ไม่กลัวบาปเหมือนแต่ก่อน ความชั่วร้ายแบบใหม่กำลังระบาดไปทุกวงการ ส่วนใหญ่ก็เนื่องมาจากการเลิกเชื่อในเรื่อง ” นรก ” นั่นเอง

บางคนก็ค่อยยังค่อยกว่าพวกแรก คือถือว่า เรื่องของสวรรค์ หรือนรก เป็นเรื่องของสภาวะทางจิต “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ” โดยถือว่า ถ้าเราทำดี ใจเราก็มีความสุข แต่ถ้าเราทำชั่ว ใจของเราก็เป็นทุกข์ และ นั่นคือ นรกนั่นเอง

นรกตามคำสอนของพระคัมภีร์นั้น “นรก” มีแน่นอน เพราะพระคัมภีร์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ทั้ง 7 หมวดที่เดียว ดู

1 หมวดประวัติศาสตร์ ฉธบ. 32: 22-25

2.หมวดบทกลอน สดด. 9 :17 ,สภษ. 15: 25

3.หมวดพยากรณ์ อสย. 14 :9 ,11 , 15

4หมวดกิตติคุณ ลก. 16: 23,24 ,มธ. 5: 29 , มก. 9: 47 ,48

5.หมวดกิจการ กจ.2: 21,32

6.หมวดจดหมาย 2 ธส. 1: 9 ,2 ปต.2 :4

7.หมวดวิวรณ์  วว.20: 14, 15

สิ่งที่เราควรรู้ก็คือ “นรก” ไม่ใช่สภาวะทางจิตเท่านั้น แต่เป็นสถานที่แห่งหนึ่ง สังเกตคำตรัสของพระองค์ใน มธ. 25 :41 ” พระองค์จะตรัสกับบรรดาผู้ที่อยู่เบื้องซ้ายพระหัตถ์ของพระองค์ว่า ท่านทั้งหลายผู้ต้องสาปแช่งจงถอยออกไปจากเราเข้าไปอยู่ในบึงไฟที่ไหม้อยู่เป็นนิตย์ ซึ่งเตรียมไว้สำหรับมาร และสมุนของมันนั้น” และใน มก. 9: 47 ,48 ” สิ่งที่จะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าด้วยตาข้างเดียวก็ยังดีกว่ามีตาสองข้าง และถูกทิ้งไปในนรก ”

คำว่า “นรก” หรือ “แดนคนตาย” “นรกขุมมืด” ในภาคพันธสัญญาเดิมอันเป็นภาษาฮีบรูนั้น เขาใช้คำว่า “เฮโอล” แปลตามตัวอักษรว่า “พิภพของผู้ตาย” ใช้ในพระคัมภีร์เดิม 63 ครั้ง ถอดเป็นภาษาไทย 2 คำ คือ”แดนคนตาย” และแดนผู้ตาย” ถ้าเราอ่านทั้ง 63 ข้อ ก็จะเห็นว่าแท้ที่จริงนั้นก็คือ นรกขุมหนึ่งนั่นเอง

 

การที่พระคัมภีร์เดิมกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างมากมายก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า สถานที่แห่งนี้ต้องมีแน่ ยิ่งกว่านั้นคำว่า “เชโอล” เมื่อนำมาใช้ในพันธสัญญาใหม่ซึ่งเขียนในภาษากรีก ผู้เขียนทุกคนก็ได้ใช้คำว่า “เฮดีส์” ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า “ภพที่มองไม่เห็น” คำนี้ใช้ในพันธสัญญาใหม่ 11 ครั้ง แปลว่า “แดนคนตาย” 6 ครั้ง “แดนมรณา” 3 ครั้ง พลังแห่งความตาย 1 ครั้ง “มัจจุราช” 1 ครั้ง

ข้อพระคัมภีร์ที่ชี้ให้เห็นว่า “เฮโอล” และ “เฮดีส์” เป็นส่วนหนึ่งของนรก ก็คือ สดด. 116:3 “ความเจ็บปวดแห่งแดนผู้ตายจับข้าพเจ้าไว้ ข้าพเจ้าประสบความทุกข์ใจและความระทม” อสย. 14 :11 “ความโอ่อ่าของเจ้าถูกทำลงมาถึงแดนคนตาย และเสียงพิณของเจ้า ตัวหนอนจะเป็นที่นอนในตัวเจ้า และตัวหนอนจะเป็นผ้าห่มของเจ้า

ฮชย.13: 14 ” ควรที่เราจะไล่เขาให้พ้นอำนาจแดนคนตาย หรือควรที่เราจะไถ่เขาให้พ้นความตายหรือ โอ มัจจุราชเอ๋ย วิบัติของเจ้าอยู่ที่ไหน โอ แดนคนตายเอ๋ย ความพินาศของเจ้าอยู่ที่ไหน ความเมตตาเอ็นดูได้ถูกบดบังไว้ให้พ้นสายตาของเราแล้ว

ลก.16: 22,24 ” ฝ่ายเศรษฐีก็ตายด้วย และเขาก็ฝังไว้แล้วเมื่ออยู่ในแดนมรณาเป็นทุกข์ทรมานยิ่งนัก…ข้าพเจ้าตรำทุกข์อยู่ในเปลวไฟนี้ ”

จากพระคัมภีร์เราจะเห็นว่า แม้ว่าแดนมรณาจะมีลักษณะของนรกอย่างครบถ้วนก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ที่อยู่อันถาวรของคนบาป ถ้าเราศึกษาจาก สภษ. 21 :14 ก็อาจจะทำให้เราเข้าใจว่าผู้เชื่อไม่ต้องไปที่นั่น แต่เค้าความจริงที่ซ่อนอยู่ในพระคัมภีร์บางตอน เช่น 1 ซมอ.28 :8-19, 24: 8 – 19 กลับมีร่องรอย ที่ชี้ให้เห็นว่าทั้งคนชอบธรรมและคนอธรรมล้วนเมื่อตายแล้วต้องไปสู่ที่นั่นกันทั้งคู่ และจาก ลก. 16 :19-21 ก็ได้บันทึกชัดเจนว่า แดนคนตายนี้ได้แบ่งออกเป็น 2 เมือง ๆ เมืองของผู้เชื่อมีชื่อว่า “อกของอับราฮัม” ผู้ที่ไปที่นั่นจะได้รับการเล้าโลม ส่วนผู้ไม่เชื่อจะต้องไปยังอีกเมืองหนึ่งที่เศรษฐีไป และต้องได้รับความทุกข์ทรมาน และระหว่างเมืองทั้งสองก็มีเหวใหญ่ตั้งขวางอยู่

ตั้งแต่การคืนชีพของพระคริสต์เป็นต้นมา “แดนมรณา จึงเป็นที่อยู่ของเหล่าวิญญาณที่ต้องพินาศแต่พวกเดียว และที่นั่นจะต้องได้รับความทรมานอย่างแสนสาหัส แต่ที่นี่ก็ยังหาใช่ที่อยู่อันถาวรของคนที่พินาศก็หาไม่ เพราะเมื่อถึงวันพิพากษา เมืองนี้ก็ต้องส่งคนที่อยู่ในเมืองนี้เข้าสู่การพิพากษาที่พระที่นั่งใหญ่สีขาว วว. 20 :11 “ความตายของแดนมรณาก็ส่งคืนคนทั้งหลายที่อยู่ในแดนนั้น คนทั้งหลายก็ถูกพิพากษาตามการกระทำของตนหมดทุกคน…” ในข้อที่ 14 ได้กล่าวถึงสาระสุดท้ายของแดนมรณาว่า “แล้วความตาย และแดนมรณาก็ถูกทิ้งลงไปในบึงไฟ บึงไฟนี่แหละเป็นความตายครั้งที่ 2

 

สถานที่อันเป็นที่อยู่ของวิญญาณที่ต้องพินาศ ซึ่งนักศานสนาศาสตร์ส่วนมากก็เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นที่อยู่อันถาวรนั้น ภาษากรีกใช้คำว่า “กีเฮ็นน่า”ซึ่งเพี้ยนมาจาภาษาฮีบรูว่า “กีฮินโนน” ซึ่งหมายถึง หุบเขา บุตรแห่งฮินโนน 1 พกษ. 23 ;10 เป็นสถานที่ซึ่งกษัตริย์อาหัสได้ทรงเผาบรรดาพระโอรสของพระองค์ให้ลุยไฟถวายแก่พระโมเล็ก ใน2 พศด.33 :6 และพระประชาชนก็ทำตามโดย “เผาบุตรชาย และบุตรหญิงของเขาทั้งหลายด้วยไฟ “ยรม. 7: 30 ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงเกลียดชังยิ่งนัก ยรม.12: 35 ภายหลังต่อมาสถานที่นี้ได้กลายเป็นที่ทิ้ง และเผาขยะ ซึ่งมีไฟลุกคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา เป็นที่ทิ้งซากสัตว์ และศพของพวกอาชญากร จึงเป็นสถานที่ซึ่งคู่ควรอย่างย่งที่จะนำมาเป็นสัญญาลักษณ์ของสถานที่ซึ่งวิญญาณของผู้ชั่วร้ายต้องไป

คำว่า “กีเฮ็นน่า” พบในพันธสัญญาใหม่ 12 ครั้ง ทุกครั้งแปลว่า “นรก” ใน 12 ครั้งนี้เป็นคำตรัสของพระเยซูเสีย 11 ครั้ง ปรากฎใน มธ. 5: 22 ,29,30 , 30: 28 ,18 : 9 ,23: 15,33 มก. 9: 43 ,45 ,47 ,ลก. 12: 5 สิ่งที่น่าสังเกตุก็คือทุกครั้งที่พระเยซูคริสต์ตรัสถึงนรกนั้น พระองค์ตรัสอย่างชิงชังเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว และข้อ 12 นั้นเป็นข้อเขียนของ ท่านยากอบใน ยก. 3 :6

ตามความเข้าใจของนักศาสนศาสตร์มีความคิดเห็นต่างกันในเรื่องนรก (กีเฮ็นน่า) กับบึงไฟ บางคนเห็นว่าเป็นแห่งเดียวกัน บางคนก็คนละแห่ง แต่จากการค้นคว้าของผูเขียนเห็นว่าเป็นแห่งเดียวกันนั่นเอง เพราะเป็นที่อยู่ถาวรแห่งสุดท้ายของผู้ที่ตายในความบาป และจากความจริงที่ค้นพบในพระคัมภีร์ก็สามารถลงความเห็นได้ว่า ในปัจจุบันยังไม่มีใครที่ได้ไปยังนรกเลย

แดนมรณา และนรกอยู่ที่ไหน เป็นปัญหาที่เราควรขบคิดด้วย พระคัมภีร์สอนว่าใน ฉธบ. 12: 22 ว่า “เพราะมีไฟก่อขึ้นด้วยเหตุความกริ้วของเรานั้น ไฟก็ลุกลามไปจนถึงก้นลึกของแดนคนตาย เผาแผ่นดินโลก และพืชผลในนั้น และก่อเพลิงติดรากขุนเขา ดังนั้นแดนผู้ตายจึงอยู่ใต้แผ่นดินโลก

ใน สภษ.15 :24 “ทางของคนฉลาดนำขึ้นสู่ชีวิต เพื่อเขาจะได้หลีกหนีจากแดนผู้ตายเบื้องล่าง” เปรียบเทียบ โยบ 11: 8 ,สดด. 55: 15 ทำให้ทราบว่า แดนผู้ตายอยู่เบื้องล่าง

วว. 19: 20 , 20: 10,14 บอกว่าบึงไฟอยู่ที่ “เบื้องล่าง”

ในนรกก็ยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ แม้จะมีไฟไหม้อยู่เป็นนิตย์ แต่ในนรกก็เต็มไปด้วยความมืด

นอกจากนั้นพระคัมภีร์ยังชี้ให้เห็นว่า แม้ในนรกจะเต็มไปด้วยไฟที่ร้อนยิ่ง แต่ก็ยังเต็มไปด้วยตัวหนอนที่ไม่รู้ตาย คอยกัดกินผู้ที่อยู่สถานที่นั้น

ยิ่งกว่านั้นพระคัมภีร์ยังชี้ให้เห็นว่า บุคคลที่ตกนรกนั้นจะต้องถูกทรมานอย่างไม่ว่างเว้นเลย และการทนทุกข์ที่ในนรกนั้น ผู้ที่ตกอยู่ในที่นั้นจะมีความรู้สึก และไม่เกิดอาการชินชาอย่างที่บางคนเข้าใจ ลก. 16 :19 31

 

ระยะเวลาที่คนบาปต้องทนทุกข์ทรมานในไฟนรก

เราได้ศึกษามาแล้วว่า ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีใครได้ไปนรกเลย แต่ทุกคนที่ตายแล้วในความบาปของตน ต้องถูกส่งไปยังแดนมรณาเพื่อรับความทุกข์ทรมานที่นั่น จนกว่าจะถึงวันพิพากษาใหญ่ที่จะมาถึง ในเวลานั้นแดนมรณาจะส่งตัวบุคคลที่มันกักตัวไว้ไปยังหน้าพระที่นั่งใหญ่ขาว เพื่อรับการพิพากษาครั้งสุดท้าย ดู ยน.5: 29 ,ดนล. 1:2 เปรียบ วว.20:11, 14

ตามคำสอนของพระคัมภีร์ได้สอนไว้อย่างชัดเจนว่า การทรมานที่พวกเขาจะได้รับนั้นจะเป็นการทรมานทั้งกลางวัน และกลางคืน ไม่มีที่สิ้นสุดเลย วว.21: 10

เราควรมีท่าทีอย่างไรในเรื่องนรก ก่อนอื่นควรรู้ว่า ตามคำสอนของพระคัมภีร์ใครบ้างที่ต้องตกนรก บุคคลที่พรพะคัมภีร์บอกชัด ปรากฎใน 2 ธส.1: 8,9 นั่นคือคนที่ไม่รู้จักพระเจ้า และคนที่ไม่เชื่อข่าวประเสริฐ

เมื่อเราได้เรียนรู้ว่า นรกนั้นมีความน่าสะพรึงกลัวเพียงใด เราก็ยิ่งรู้ซึ้งถึงพระตรัสของพระเยซูที่ตรัสว่า “ดูเถิด เราได้ให้พวกท่านมีอำนาจเหยียบงูร้าย และแมงป่อง ไม่มีสิ่งใดจะทำอันตรายแก่ท่านได้เลย แต่ว่าอย่าได้เปรมปรีดิ์ในสิ่งนี้ คือที่พวกผีอยู่ใต้อำนาจบังคับของพวกท่าน แต่ท่านจงเปรมปรีดิ์ เพราะชื่อของท่านจดไว้ในสวรรค์” การที่พระเจ้าทรงช่วยเราพ้นจากไฟนรกเป็นพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าสำหรับเรา ซึ่งเราควรที่จะขอบพระคุณพระองค์ชั่วนิรันดร์

นอกจากนั้นเราควรทีท่าทีสงสารคนทั้งหลายที่กำลังพินาศ เพราะผู้ใดที่ไม่มีชื่อจดไว้ในสมุดทะเบียนประจำชีพ (หนังสือแห่งชีวิต) จะต้องถูกทิ้งในบึงไฟ วว. 20 :15 โอกาสแห่งความรอดของเขาไม่มีมาก ฮบ.9 :27 เราควรมีน้ำใจเหมือนท่านเปาโล รม.9: 1 – 3 และท่านเยเรมีร์ ยรม.9: 1 ที่เจ็บร้อน และร้องไห้เพื่อวิญญาณที่กำลังพินาศนอกจากนั้นเราควรเป็นพยานอย่างสัตย์ซื่อ เพื่อช่วยเขาให้รอดในทุกวิถีทาง 1 คร.9: 16-21

บทความโดย ศจ.เจียมเม้ง แซ่เล้า