คำนี้มาจากคำในภาษาฮีบรู คือ โอเรช และถ้าอยู่ในรูปคำกริยา คือ ราอาช ภาษากรีก คือ คำว่า พอยเมน ซึ่งเมื่อเป็นคำกริยา คือพอยมาโน คำนี้ในภาษาอังกฤษ แปลว่า Shepherd หรือ pastor
คำศัพท์คำนี้ ในภาษฮีบรูมีความสัมพันธ์ใกล้เคียงกับภาษาอื่นๆ เช่น อาเคเดียน (Akkadian) ยูการิติค (Ugaritic) อาราเมค(Aramaic) โฟนิเชียน (Phoenician) และภาษาอื่น ในตระกูลเซมิติค (Semetic)
คำกริยาในภาษาฮีบรูปรากฏทั้งหมด 160 ครั้งในพระคัมภีร์เดิม และคำนามนั้นปรากฎอยู่ 60 ครั้ง
คำนี้เป็นคำที่ใช้ในความหมายอย่างกว้างๆคือ การเลี้ยงดูฝูงสัตว์ ซึ่งเป็นอาชีพเก่าแก่ของคนที่อยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ อัครปิตุลาของชาวอิสราเอลก็เป็นพวกที่ร่อนเร่ ต้อนฝูงสัตว์ไปตามที่ต่างๆ หน้าที่ของการเลี้ยงสัตว์นั้นเป็นหน้าที่ของคนในครอบครัว ผู้เลี้ยงแกะจะต้องเลี้ยงแกะด้วยความระมัดระวัง และจะต้องด้วยความซื่อสัตย์ ในฤดูแล้งไม่เป็นการง่ายเลยที่จะหาทุ่งหญ้าใหม่ให้แก่แกะ แต่ผู้เลี้ยงแกะก็จะต้องเอาอกเอาใจใส่อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยต่อแกะ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถช่วยตัวเอง ข้อพิสูจน์ว่าผู้เลี้ยงแกะได้ทำหน้าที่ของตนอย่างทุ่มเทหรือไม่ก็คือ การป้องกันฝูงแกะของตนให้พ้นจากสัตว์ร้ายหรือขโมยในเวลากลางคืน
แกะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เป็นที่รู้จักดีในดินแดนปาเลสไตน์ แกะเป็นสัตว์ที่ถูกนำมาใช้เป็นประโยชน์อย่างมาก นับตั้งแต่นำมาเป็นอาหาร เช่น 1 ซามูเอล 14:32) เอานมมาดื่ม (อิสยาห์ 7:21-22) เอาขนมาทำเสื้อผ้า (เลวีนิติ 13:47-48) และเอาหนังมาทำเต้นท์ (อพยพ26:14) แกะถูกนำมาเป็นปัจจัยในการแลกเปลี่ยน (ดู 2 พงศ์กษัตริย์ 3:4) และถูกนำมาใช้เป้นเครื่องสัตว์บูชาในพิธีถวายบูชาต่างๆ (เลวีนิติ 1:10, 4:32, 5:15, 22:21)
โดยธรรมชาติแล้ว แกะเป็นสัตว์ที่น่ารักใคร่ (2 ซามูเอล 12:3) ไม่ก้าวร้าว (อิสยาห์53:7, เยเรมีย์11:19, ยอห์น10:3-4) ไม่สามารถปกป้องตัวเอง (มีคาห์5:8, มัทธิว10:16) และต้องการการเอาใจใส่เลี้ยงดูอยู่เสมอ (กันดารวิถี27:17, เอเสเคียล34:5) จากผู้เลี้ยงแกะ เราจะเห็นว่าแกะและผู้เลี้ยงแกะจะต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ดังนั้น จึงไม่เป็นการแปลกเลยที่คำว่าผู้เลี้ยงแกะจะถูกนำมาใช้ให้มีความหมายพิเศษในทางศาสนศาสตร์อยู่เสมอ
สำหรับชาวตะวันออกโบราณ ได้ใช้คำว่า เมษบาล หรือ ผู้เลี้ยงแกะ เป็นตำแหน่งของเทพเจ้า หรือ ผู้นำในการปกครองบ้านเมือง เราจะพบตำแหน่งในรายชื่อกษัตริย์ของพวกซุมาเรียน (Sumerian) ในเรื่องในวังของบาบิโลนและในปิรามิด ดังนั้น กษัตริย์ในสมัยก่อนจะถูกเรียกว่า เป็นเมษบาลของประชาชน
แต่สำหรับอิสราเอลแล้ว พระเจ้ายาเวห์ (Yaweh) คือเมษบาลที่เที่ยงแท้แต่พระองค์เดียว ตำแหน่งนี้ได้เล็งถึงพระเจ้าในพระธรรมปฐมกาลอยู่ 2 ตอนด้วยกันคือ ปฐมกาล 48:15 และ 49:24 โดยได้แสดงให้เห็นอย่างชัดว่า พระเจ้าคือ เมษบาลของอิสราเอล แต่ต่อมาในพระคัมภีร์หมวดประวัติศาสตร์ของพระคัมภีร์ไม่ได้ใช้คำนี้มาเล็งถึงพระเจ้าอีกเลย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะไม่ต้องการให้คนอิสราเอลสับสนระหว่างพระเจ้าของอิสราเอลกับเทพเจ้าต่างชาติ เพราะเทพเจ้าในสมัยนั้นมักจะถูกเรียกว่าเป็นเมษบาลด้วย และมาถึงสมัยที่อิสราเอลกำลังจะตกเป็นเชลย ผู้พยากรณ์ในสมัยนั้นก็ได้นำตำแหน่งนี้มาใช้กับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยหนุนใจคนอิสราเอล และนอกจากนี้เราจะพบคำนี้มากในพระธรรมสดุดีด้วย (สดุดี 23, 28:9, 68:8, 74:1, 77:20, เยเรมีย์ 23:2, 31:10, 50:19, เอเสเคียล 34:11, อิสยาห์ 40:10 มีคาห์ 4:6) การที่คนอิสราเอลยอมรับว่าพระเจ้าเป็นเมษบาลนั้น เกิดมาจากประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตทางศาสนาของพวกเขาเอง คนอิสราเอลได้มีประสบการณ์ในการช่วยกู้ของพระเจ้าในยามที่พวกเขาประสบกับความทุกข์ยาก (สดุดี 73) ผู้ที่นมัสการพระเจ้านั้นมั่นใจว่าตนเองจะปลอดภัยภายใต้อารักขาของพระเจ้า เพราะพระองค์เป็นเมษบาลที่สัตย์ซื่อ (สดุดี 23) และจากพระธรรมสดุดีบทที่ 23 เราจะเห็นว่าผู้เลี้ยงแกะนอกจากคุ้มครองแกะของตนให้ปลอดภัยแล้ว ยิ่งได้ให้การต้อนรับและคุ้มครองแขกที่เดินทางผ่านมาอีกด้วย ซึ่งขนบธรรมเนียมเช่นนี้ยังถือปฏิบัติกันอยู่ในตะวันออกกลาง
จากจุดนี้เอง ทำให้เราเห็นว่าตำแหน่งของเมษบาลที่เป็นทางการนั้นไม่ได้เป็นของกษัตริย์ของอิสราเอล แต่ตำแหน่งที่มีเกียรตินี้ยังคงเป็นของพระเจ้า ถึงแม้กษัตริย์ของอิสราเอลเช่นกษัตริย์ดาวิดจะทำหน้าที่เป็นเมษบาลของประชาชนอิสราเอล แต่ตำแหน่งเมษบาลสูงสุดนั้นยังเป็นของพระเจ้า (ดู2ซามูเอล5:2,24:17) และบรรดาผู้พยากรณ์ก็ได้ตำหนิบรรดาเมษบาลฝ่ายการเมืองและการทหารว่าไม่ได้รับผิดชอบหน้าที่ของตน และเป็นสาเหตุให้ฝูงแกะของพระเจ้ากระจัดกระจายไป (เยเรมีย์10:21, 22:22, 23:1-5)
นอกจากนั้น พระมาซีฮาที่จะมานั้นก็ถูกเรียกว่าผู้เลี้ยงแกะที่จะถูกส่งมาจากพระเจ้า (เยเรมีย์3:15, 23:4 เอเสเคียล34:23, 37:22, 24) ในพระธรรมเหล่านี้ได้แสดงให้เราเห็นว่า พระมาซีฮาที่จะมานั้นจะทำหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงแกะที่แท้จริง และจะมาจากเชื้อสายของดาวิด และหลังจากคนอิสราเอลกลับจากการเป็นเชลย ภาพของพระมาซีฮาที่เป็นผู้เลี้ยงแกะก็ได้ถูกนำมาย้ำอีก (เศคาริยาห์13:7) และนอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นว่า พระมาซีฮานี้จะต้องถูกฆ่า (เศคาริยาห์12:10)
ในสมัยที่คนอิสราเอลกลับมาจากการเป็นเชลยแล้ว อาชีพของผู้เลี้ยงแกะไม่ได้ถูกยกย่องอีกต่อไป ในสภาพที่ค่าจ้างตกต่ำนั้น คนเลี้ยงแกะถูกมองว่าเป็นคนไม่สัตย์ซื่อ พวกที่เคร่งศาสนาจะไม่ซื้อขนแกะ นม และเนื้อจากผู้เลี้ยงแกะเลย พวกเขาถูกตัดสิทธิ์บางอย่างทางสังคมเช่นเดียวกับคนเก็บภาษี
ถึงแม้ในสมัยของพระเยซูคริสต์ ภาพของผู้เลี้ยงแกะจะไม่ค่อยดีนัก แต่พระเยซูก็ได้นำภาพของผู้เลี้ยงแกะที่อุทิศชีวิตมาบรรยายให้มีสีสรรที่สวยงาม (ยอห์น10:3-4 ลูกา15:4-5) คนในสมัยของพระองค์ตำหนิผู้เลี้ยงแกะ แต่พระองค์นำชีวิตของผู้เลี้ยงแกะมาเปรียบเทียบกับความรักของพระเจ้า
จากพระกิตติคุณสัมพันธ์ เราจะเห็นอย่างชัดเจนว่า พระเยซูคริสต์คือเมษบาลที่ได้ทรงสัญญาไว้ในพระคัมภีร์เดิม มีเพียงเรื่องอุปมาเพียงเรื่องเดียวที่เปรียบเทียบว่าพระเจ้าเป็นผู้เลี้ยงแกะ (ลูกา15:4-7, มัทธิว18:12-14) พระกิตติคุณได้อ้างว่า พระเยซูเป็นพระเมษบาลที่เป็นพระมาซีฮาอย่างน้อย 3 ประการคือ
1. พระองค์ทำหน้าที่รวบรวมแกะที่หลงหายไปให้กลับมา (มัทธิว9:36, 10:6, 15:24, ดูลูกา19:10 และเอเสเคียล34:15) ซึ่งเล็งถึงยุกแห่งความรอดที่ผู้พยากรณ์ได้กล่าวถึง
2. พระเยซูจะต้องตายเพื่อฝูงแกะของพระองค์ก่อน แล้วจึงฟื้นขึ้นมาใหม่ (มัทธิว26:31-32 มาระโก14:27-28) ในพระธรรมตอนนี้ พระเยซูคริสต์ได้ใช้คำพูดจากเศคาริยาห์13:7 และอ้างว่าพระองค์คือเมษบาลที่ได้พยากรณ์ไว้
3. ยุคแห่งความรอดที่ผู้เลี้ยงแกะจะรวบรวมประชากรของพระเจ้าไว้นั้น จะสมบูรณ์เมื่อวันพิพากษามาถึง เมื่อบรรดาประชามติมารวมกันต่อหน้าบัลลังก์ พระเยซูจะแยกฝูงแกะออกจากฝูงแพะ (มัทธิว25:32)
พระธรรมยอห์น10:1-30 ได้เปรียบเทียบว่าพระเยซูคริสต์เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีและได้ขยายความถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงแกะและฝูงแกะอย่างละเอียด และความสัมพันธ์ทำนองนี้ก็ได้ถูกเปรียบเทียบด้วยตัวอย่างหนึ่งคือ เถาองุ่นและแขนง (ยอห์น15)
ความสัมพันธ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้เพราะผู้เลี้ยงได้สละชีวิตด้วยความยินดี ซึ่งผู้เลี้ยงรับจ้างทำไม่ได้
ผู้เลี้ยงแกะหมายถึง องค์พระผู้เป็นเจ้า ฝูงแกะหมายถึง ประชากรของพระองค์ ซึ่งฝูงแกะนี้เป็นภาพที่ใช้แทนคำว่าคริสตจักรซึ่งไม่ปรากฎในพระธรรมยอห์น
ในกิจการ20:28 คำว่าฝูงแกะและคริสตจักร ถูกใช้แทนกัน ใน 1 โครินธ์9:17 อ.เปาโลได้อ้างสิทธิ์ที่จะได้รับการต้อนรับจากคริสตจักร โดยเปรียบเทียบว่าตนเองเป็นผู้เลี้ยงแกะและคริสเตียนที่โครินธิ์เป็นฝูงแกะ
ในเอเฟซัส4:11 ได้พูดถึงของประทานต่างๆ และศิษยาภิบาลก็เป็นของประทานประเภทหนึ่ง สิ่งที่น่าสังเกตคือ ศิษยาภิบาลปรากฎเพียงครั้งเดียวในพระคัมภีร์ฉบับภาษาไทย ผู้นำของคริสตจักรในยุคแรกคือ ผู้ปกครองดูแล ซึ่งปรากฎอยู่ใน 1 ทิโมธี3:1 และผู้ปกครอง ซึ่งปรากฎใน 1เปโตร5:2-4 กิจการ20:28 ยอห์น21:15-17 ดังนั้น เราจะเห็นว่า หน้าที่การดูแลชีวิตของคริสเตียนยุคแรกนั้นไม่ได้ตกอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่ตกอยู่กับคณะผู้ปกครอง
ภาพที่พระเยซูคริสต์เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ผู้เสียสละชีวิตของตนเพื่อแกะนั้น ได้ถูกนำมาใช้อย่างมากในคริสตจักรในพระคัมภีร์ใหม่ และก็เป็นประสบการณ์ที่แท้จริงของพวกเขาด้วย แต่เมื่อคริสตศาสนาได้ถูกเผยแพร่ไปยังคนต่างชาติ ซึ่งมีเบื้องหลังและวัฒนธรรมแตกต่างไปจากคนยิว คำว่าองค์พระผู้เป็นเจ้า(คูริออส) ได้ถูกนำมาใช้แทนที่ผู้เลี้ยงแกะ และคำว่าฝูงแกะก็ถูกแทนด้วยคำว่า คริสตจักร (เอคคลีเซีย)
สรุป
คำว่า เมษบาลนี้เป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก ตั้งแต่เรื่องการเมืองถึงเรื่องการศาสนา และคำนี้ก็มีประวัติที่ยาวนาน คำนี้อาจจะหมายถึงอาชีพของคนธรรมดาสามัญ ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงพัฒนามาเป็นตำแหน่งที่สูงที่สุดคือ ตำแหน่งของพระเจ้าผู้สูงสุดและสำหรับคริสเตียนแล้ว พระเยซูคริสต์ผู้เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ได้สละชีวิตของพระองค์เพื่อแกะของพระองค์นั้นมีความหมายมากและทำให้เรารู้ว่าหน้าที่การเลี้ยงดูสมาชิกนั้นไม่ได้ตกอยู่กับศิษยาภิบาลเพียงคนเดียว แต่ตกอยู่กับผู้นำทั้งหลายในคริสตจักรด้วย
โดย อ.เสรี หล่อกำชัย วันที่ 26/12/2003