เงินเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ บางครั้งมันมีความหมายซะจนบางคนถือเป็นตุเป็นตะว่า “เงินคือ แก้วสารพัดนึก”
ด้วยความคิดแบบนี้กระมังที่ทำให้ผู้นำคริสเตียนบางคนวิ่งไล่คว้ามันมาไว้ในครอบครอง จนกระทั่งเขาตกในบ่วงแร้วของความผิดบาปแห่งเงินตรา
คนไทยมีปรัชญาในการนับญาติว่า “มีเงินก็นับเป็นน้อง มีทองก็นับว่าเป็นพี่”
ฝรั่งเขามีคำพูดที่น่าคิดว่า “Money is the good servant but a bad master” แปลเป็นไทยแบบง่ายๆว่า “เงินเป็นคนรับใช้ที่ดี แต่เป็นนายที่เลว”
ในวารสารเพื่อนผู้นำฉบับเดือนมีนาคม เมษายน 1992 ได้ลงข่าวเรื่อง “ฟ้องนักเทศน์ ทุจริตเรื่องเงิน คืออาจารย์อีเดอร์ มาเวโด้ ซึ่งเป็นชาวบราซิล อเมริกาใต้ ผู้รับใช้พระเจ้าคนนี้ก่อตั้งองค์กรหนึ่ง ซึ่งมีสมาชิกถึง 2,000,000 คน ตัวเขาเองมีคฤหาสน์หลายหลัง เขาถูกศิษยาภิบาลในคณะของเขาฟ้องร้องในข้อหา “ ทุจริตการใช้เงิน ” และ ทางรัฐบาลบราซิลสอบสวนในเรื่องไม่ยอมจ่ายภาษีให้แก่รัฐอีกด้วย
วารสารเดียวกันนี้ ในเล่มต่อมาคือ ฉบับเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 1992 ก็ได้ลงข่าว “นักทุจริตเรื่องเงิน” คือ ลารี่ ลี เป็นศาสนาจารย์ที่ประกาศทางทีวี ในสหรัฐอเมริกา เขามีโบสถ์ใหญ่มีสมาชิกถึง 70 แห่ง
แต่ลารี่ ลี ต้องยุติการรับใช้พระเจ้าทางสื่อมวลชน เพราะมีคนพบหลักฐานว่า เขาโกงเงินจำนวนมากของประชาชนที่ส่งไป เพื่อช่วยสร้างคริสตจักรในประเทศโปแแลนด์
เชื่อว่าเรื่องทำนองนี้คงจะมีบ้างในคริสตจักรไทย แต่ไม่เป็นที่เปิดเผยเท่านั้น มีคริสเตียนระดับผู้นำสถาบันหนึ่ง เที่ยวไปอ้างกับใครต่อใครว่า “ ผมไม่มีเงิน ผมไม่มีบัญชีเงินฝากในธนาคาร ” แต่ผู้สนับสนุนและเพื่อนร่วมงานของเขารู้ว่า ผู้นำคนนี้ได้นำเงินถวายที่ได้มา เข้าในบัญชีพ่อของเขา !
เปาโลได้เขียนจดหมายไปเตือนศิษยาภิบาลหนุ่ม แห่งคริสตจักรเอเฟซัสว่า จงพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ การมีพระเจ้าและมีโอกาสปรนนิบัติรับใช้พระเจ้านั้น นับว่าเป็นการหาความสุขใจที่เพียงพอแล้ว
มีปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต คือ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
ส่วนคนที่ต้องการเงิน เปาโลได้กล่าวถึงชีวิตและอนาคตของพวกเขาว่า “ ส่วนคนเหล่านั้นที่อยากร่ำรวย ก็ตกอยู่ในข่ายของความเย้ายวน และติดบ่วงแร้วและในความปรารถนาที่ไร้ความคิดและเป็นภัยแก่ตัว….”
ท่านได้ตอกย้ำให้คริสเตียนตระหนักถึงสาเหตุแห่งความล้มเหลวในชีวิตของผู้นำว่า “ ด้วยว่าการรักเงินทอง เป็นมูลรากแห่งความชั่วทั้งมวล เพราะความโลภนี่แหละ จึงทำให้คนบางคนห่างไกลจากความเชื่อ และ ตรอมตรมรมด้วยความทุกข์ ” (1 ทิโมธี 6:6-10)
เมื่ออ่านข้อพระคัมภีร์แล้ว อาจจะมีบางคนถามว่า ถ้างั้นพระเจ้าก็ทรงต้องการให้เราอยู่แบบคนยากจนและตามมีตามเกิด ใช่ไหม
หาเป็นดังนั้นไม่ พระเจ้าไม่มีพระประสงค์ที่จะให้คริสเตียนอยู่แบบ “คนขอทาน”
เมื่อไรที่คริสเตียนเป็นวณิพกกระจอกงอกง่อย เมื่อนั้นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เสียชื่อแย่!
จอห์น เวสเล่ย์ เป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่มีชื่อเสียงในอดีต และเป็นผู้ก่อตั้งคณะเมธอดิสก์ ได้วางกฏเกี่ยวกับเงินทองไว้อย่างน่าสนใจคือ
หาเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้
เก็บเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะเก็บได้
และถวายให้มากที่สุดเท่าที่จะถวายได้
เฮอร์เบิร์ต คาลสัน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “จะหาเงินและการใช้เงินได้อย่างไร” (How to get and use money) ได้กล่าวว่า “ จอห์น เวสลีย์ทำได้เฉพาะประการสุดท้ายเท่านั้น เมื่อเวสลีย์ตาย เขาไม่ได้เหลืออะไรไว้เลย นอกจากช้อนส้อมเงินสามคู่ และโบสถ์เมธอดิสก์ ”
ประการแรก รู้จักในการหาเงิน
หมายถึง ผู้นำจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อการได้เงินมา ไม่ใช้วิธีแบบมีเล่ห์เหลี่ยม กลเม็ด ซิกแซ็ก และตบตา เพื่อหาเงินเข้าพกเข้าห่อตนเองหรือญาติพี่น้อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการหาเงินจากต่างประเทศ ซึ่งผู้ถวายไม่ได้มารู้มาเห็นในงานที่ผู้นำทำอยู่
รายงานการเงินที่ตรงต่อความเป็นจริง จะเป็นการถวายเกียรติยศแด่พระเจ้า และ พี่น้องที่สนับสนุนก็จะไม่เสียใจผิดหวัง หรือ ดูถูกผู้รับใช้ของพระเจ้า และ เขาอาจเตลิดไปจากทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า
“จริงก็ว่าจริง ไม่ก็ว่าไม่ พูดแต่เพียงนี้ก็พอ คำพูดเกินนี้ไป มาจากความชั่ว” (มัทธิว5:37)
มิชชันนารีคนหนึ่งกล่าวว่า “เดี๋ยวนี้เงินถวายจากต่างประเทศลดน้อยลง และการเรี่ยไรทำได้ยากขึ้น พราะมีนักเทศน์หลายคนทำให้เสียชื่อ คนเลยเข็ดขยาดไม่อยากถวาย”
คงจะเข้าทำนอง “ปลาตายตัวเดียว เน่าทั้งข้อง”
ประการที่สอง รู้จักในการเก็บเงิน
เงินทองเป็นของบาดใจ แม้แต่พี่น้องก็ยังผิดใจกันได้ ฉะนั้นผู้นำจะต้องรู้ว่า จะเก็บเงินของพระเจ้าอย่างไรจึงจะปลอดภัยแน่นอน คริสตจักรหรือหน่วยงานควรจะมีบัญชีที่ชัดเจน บัญชีเงินฝากในธนาคาร และบัญชีกระแสรายวัน
ทางดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดคือ ผู้นำหรือศิษยาภิบาลอย่าไปถือเงิน ควรจะตั้งคนที่ซื่อสัตย์อย่างน้อย 2 คนขึ้นมารับผิดชอบการเงิน โดยเฉพาะผู้นำมีหน้าที่เพียงคอยสอดส่องดูแล และให้คำปรึกษาแนะนำทางด้านการเงินเท่านั้น
ข้อมูลจากฝ่าย ประชาสัมพันธ์
วันที่ 23/04/2004