ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์ ในบ้านเมืองของเราในขณะนี้ เราคงได้ยินและพบเห็นการวิพากษ์วิจารณ์จากเรื่องต่างๆ และจากบรรดานักการเมืองทั้งหลาย แล้วก็อาจจะมีบางคนที่คล้อยตาม โดยไม่ตรวจสอบไตร่ตรอง เพราะมีความนิยมในตัวของนักวิจารณ์นั้นๆอยู่แล้ว แต่ในฐานะที่เป็นคริสตชน ขอชวนให้เรามาพิจารรณาว่าพระคริสตธรรมคัมภีร์ ได้สอนอีกทั้งมีตัวอย่างให้เห็นว่าเราควรมีท่าทีต่อประเทศชาติและผู้ปกครอง (ผู้บริหาร) บ้านเมืองอย่างไร

ก่อนอื่นขอแสดงทัศนะส่วนตัวในเรื่อง ระบอบการการเมืองว่า ทั้งระบอบประชาธิปไตย และระบอบที่เราเรียกว่าเผด็จการ ต่างก็มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งในตัวเอง ทั้งดีและไม่ดีควบคู่กันไปด้วย ที่จริงปัญหาไม่ใช่ระบอบ แต่อยู่ที่คนบริหารต่างหาก ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องดีหรือเลว ยกตัวอย่าง ของประเทศสิงคโปร์ สมัยที่นายกลีกวนยู เป็นประมุข สภาของประเทศก็เหมือนเผด็จการรัฐสภา เพราะแทบจะไม่มีฝ่ายค้านเลย แต่ก็เจริญขึ้น มากมาย แล้วเรามาดูประเทศที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย คืออเมริกาที่ก่อตั้งประเทศโดยรักพระเจ้า ถึงกับในธนบัตรพิมพ์คำว่า In God we trust ( เราวางใจในพระเจ้า) ปัจจุบันมีปัญหามากเพียงไร แล้วสภายังออกกฎหมายที่ขัดแย้งกับมาตรฐานของพระคัมภีร์ เช่นเรื่องอนุญาตให้พวกรักร่วมเพศแต่งงาน (เกย์ และเลสเบี้ยน)

ดังนั้นเราที่เป็นคริสเตียนขอให้เรามาทบทวนดูว่า มีแบบอย่างในพระคัมภีร์สอนเราให้มีท่าทีอย่างไร ขอให้เรามาดูว่ามีบทเรียนอะไรที่เราจะนำมาใช้กับยุคปัจจุบันได้บ้าง

1 เราควรจะยึดหลักการที่สอนว่า จงอยู่อย่างสงบสุขกับทุกคน (โรม 12:28 ) เป็นบุคคลที่สร้างสันติ ( มธ 5:9)

2 ดำเนินชีวิตตามคำสอน ในเรื่องให้อธิษฐานเผื่อบ้านเมืองที่เราอาศัยอยู่ เพื่อผู้ที่มีอำนาจปกครองบ้านเมือง และมีตัวอย่างให้ดูดังนี้

(1) เมื่อพวกยิวถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึกที่บาบิโลน ( กคศ 597) ภายใต้ความกดดัน การกดขี่ข่มเหง ชีวิตที่ต้องพลัดพรากจากญาติพี่น้อง อับอาย โศกเศร้าที่นั่นพระเจ้าทรงให้เยเรมีห์ เขียนจดหมายไปหนุนใจให้พวกยิว อธิษฐาน แทนการมีชีวิตอยู่อย่างเคียดแค้น (ยรม 29:6-7 เปรีบเทียบ สดด บทที่ 137) แล้วเราได้เห็นดาเนียลกลายเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในราชสำนัก แม้กระทั่งมหาจักรพรรดิ์ ยังสยบต่ออิทธิพลความเชื่อ และการอธิษฐานของเขา (ดนอ 2:46-49 , 3:28- 30,4: 1 -37) และจักรพรรดิแห่งเปอร์เซีย ต้องกล่าวยกย่องพระเจ้า (ดนอ 6:25-28) และมีพระบัญชาให้ออกจากการเป็นเชลยกลับไปสร้างบ้านเมืองใหม่ ( 2 พศด 36:22 -23)

อัครทูตเปาโลหนุนใจให้คริสตชนอธิษฐานเผื่อผู้ปกครองบ้านเมือง ในช่วง คศ 60 – 64 ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโรมัน ( 1 ทธ 2:1-3 ) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บรรดาจักพรรดิ์โรม ข่มเหงทั้งคนยิว และคนที่เป็นคริสเตียน โรมถือว่าจักรพรรดิ์เป็นเทพเจ้าด้วย แต่คริสเตียนไม่ยอมนมัสการ เพราะขัดความเชื่อ แต่ยังคงอธิษฐานอวยพรผู้มีตำแหน่งในการปกครองบ้านเมือง แทนการสาปแช่ง

3 อัครทูตเปาโล และเปโตร ต่างสอนให้คริสชนเคารพต่อกฎหมายของบ้านเมือง ทำตามหน้าที่พลเมือง ให้เกียรติแก่ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง ทั้งๆที่คริสตชนถูกใส่ร้าย ถูกจับ ถูกทรมาน ได้รับความทุกข์ยากลำบาก โดยเฉพาะช่วงที่จักรพรรดิ์ที่ชั่วร้ายชื่อ นีโร ซึ่งใส่ร้ายว่าคริสเตียนเป็นผู้ที่เผากรุงโรม และภายใต้จักพรรดิ์นี้ เปาโล และ เปโตร ถูกประหารชีวิต ( โรม 13: 1 – 7, 1 ปต 2:13 – 17, 4:12 – 16, )

4 เมื่อพระเยซูทรงดำเนินอยู่ในโลกนี้ พระองค์ไม่เคยตั้งตนเป็นศัตรูกับโรมเลย ทั้งที่มีคนรอพระเมสสิยาห์มานำทัพรบ แม้แต่พวกสาวกก็อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่พระเยซูทำตามกฎเกณฑ์ เช่น สั่งให้เปโตรไปตกปลา แล้วเอาเงินที่ปากปลาไปเสียภาษีพระวิหาร (มธ 17: 24 – 27) และบอกกับพวกที่มาจับผิดพระองค์ว่า ของของซีซ่าร์ก็จงถวายแด่ซีซ่าร์ (มธ 22: 16 – 22)

ดังนั้นในฐานะที่เป็นคริสตชน เราควรจะปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมือง ควรให้เกียรติต่ออำนาจการปกครอง ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ มีประการเดียวที่เราขัดขืนคือ ถ้ามีกฎหมาย ที่ขัดแย้ง ต่อพระคำของพระเจ้า เช่นสภาซันเฮดรินสั่งไม่ให้เปโตร ประกาศพระนามพระเยซู (กจ 5:27-29) และเพื่อนของดาเนียล ถูกบังคับให้นมัสการปฏิมากรทองคำ ของกษัตริย์ เนบูคัดเนสซาร์ ( ดนอ 3:8-18) และดาเนียลรู้ว่ากฤษฎีการห้ามไม่ให้อธิษฐานต่อพระเจ้าได้ประกาศออกมาแล้ว (ดนอ 6:6-23) แต่เราจะพบได้ว่า พวกเขาเพียงขัดขืนไม่ยอมทำตามคำสั่งเท่าน้ัน แต่ไม่เคยปลุกปั่น หรือรวมคนรุกฮือขึ้นมาต่อต้านเลยแต่ยึดแนวทางสันติ ( มธ 5:9)

ในสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้ ขอให้พวกเรายึดแนวทางของพระคัมภีร์อธิษฐานเผื่อ ให้เราทูลขอสติปัญญาและดำเนินการอันควรตามแต่กรณี (ยก 1:5-8)

บทความโดย ศจ.เดชา อังคศุภรกุล
8/7/2016