เมื่อแม่ป่วยขั้นวิกฤตจากเส้นโลหิตในสมองแตก
ข้าพเจ้าอยากหนุนใจพี่น้องพี่รักในวันขอบคุณพระเจ้าปี 2019 นี้ ด้วยเรื่องราวที่พระเจ้าทรงรักษาแม่ของข้าพเจ้าให้ฟื้นกลับมาจากอาการเส้นโลหิตในสมองแตก (ภาค 1 link) วันขอบคุณพระเจ้าปีนี้เป็นอีกวันที่พิเศษสำหรับครอบครัวเราที่แม่ยังอยู่กับพวกเราให้อบอุ่นหัวใจ
ช่วงเช้าวันแม่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเกิดมีเหตุการณ์วิกฤตที่แม่มีอาการสั่นกระตุกค่อนข้างรุนแรง เราจึงเรียกรถพยาบาล เนื่องจากระยะทางจากบ้านไกล รถพยาบาลจึงไม่ยอมมาส่งแม่ที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยอ้างว่าแม่มีอาการหนักต้องรีบส่งโรงพยาบาลที่ใก้ลๆ และได้พาแม่ไปส่งเพียงโรงพยาบาลเอกชนเล็กๆแห่งหนึ่ง แต่ก็ขอบคุณพระเจ้าที่อาจารย์หมอใจดีให้ย้ายมาโรงพยาบาลรามาธิบดีได้เนื่องจากไม่มีหมอทางสมองที่นั่น ทำให้การมาถึงโรงพยาบาลรามาธิบดีล่าช้าไปถึง 5-6 ชั่วโมง
แม่มีการติดเชื้อที่ปอด และเส้นโลหิตในสมองแตก ซึ่งระยะเส้นเลือดในสมองแตกไปแล้วเป็นระยะของอาการที่อันตรายมากๆ เนื่องจากเป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีเลือดออกในสมอง จะต้องรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ และโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยก็จะมีน้อยลงด้วย แม่เส้นเลือดแตกในสมองหลายเส้น เหมือนเกิดระเบิดพร้อมกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากพยาธิสภาพของผู้ป่วยอัลไซน์เมอร์ ข้าพเจ้ายืนมองผล CT scan ด้วยน้ำตาไหล ภาพที่เห็นสมองแม่เหลือนิดเดียว จากอาการอัลไซน์เมอร์ที่ทำให้สมองฝ่อ แต่กลับมีเลือดคั่งอยู่เต็มสมอง แม่นอนไม่รู้สึกตัว ทางคุณหมอเห็นว่าไม่ควรผ่าตัดเพราะแม่อายุมากถึง 82 ปีแล้ว เนื่องจากแม่มีลิ่มเลือดที่ขา และไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ อาจารย์หมอจึงได้ทำการติดตะแกรงตรงหลอดเลือดดำใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดไปอุดตันส่วนสำคัญของร่างกาย สำหรับการเจ็บป่วยหนัก ครั้งที่ 2 นี้ของแม่ 6 วันที่ท่านนอนไม่รู้สึกตัว ข้าพเจ้าขอกับพระเจ้าว่าแล้วแต่พระเจ้าจะทรงเมตตาแม่ แล้วแต่พระคุณพระเจ้า ข้าพเจ้าไม่อยากให้แม่ต้องทนทุกข์ทรมาน ซึ่งอาจารย์หมอจะย้ำกับข้าพเจ้าอยู่เสมอว่าคุณแม่ท่านไม่ได้ทรมานอะไร เพราะท่านไม่รู้สึกตัว เมื่อ 6 วันผ่านไปแม่เริ่มค่อยๆรู้สึกตัว ขยับขาได้มากเสียจนแม่เหนื่อยหอบ เหมือนแม่เองก็คงจะตื่นเต้นที่เพิ่งตื่น ฮาเลลูยา ขอบคุณพระเจ้า
ข้าพเจ้าอยากเล่าให้ฟังว่า เมื่อแม่ป่วยหนักเราก็ป่วยด้วยกันทั้งบ้าน ทุกคนก็เหนื่อยจากการช่วยกันทำทุกวิถีทางให้ดีที่สุดเพื่อการดูแลแม่ เมื่อความตึงเครียดที่คืบคลานเข้ามารบกวนชีวิตของครอบครัวเราทุกคนทีละน้อยทีละน้อย บางครั้งเราก็รู้ตัวว่าเราเครียดกันมาก บางครั้งเราก็ไม่รู้ตัวว่าที่เรากระทบกระทั้งกันนั้นมาจากความเครียดเรื่องนี้เอง ดังนั้นเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของคนในบ้านก็เป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องไม่ละเลยและทำความเข้าใจ ที่สำคัญเราต้องฝากให้พระเจ้าทรงดูแล
ขอบพระคุณอาจารย์หมอ ที่ดูแลแม่ที่มีความเป็นห่วงไม่ใช่แต่แม่ที่ป่วย ท่านห่วงเรื่องคุณภาพชีวิตครอบครัวเราที่ดูแลแม่อีกด้วย เพราะย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทุกคนในครอบครัวจะได้รับผลกระทบจากการดูแลผู้ป่วย ท่านได้กรุณาปรึกษาทีมแพทย์สหวิชาชีพและส่งคุณหมอทีมสหวิชาชีพมาเยี่ยมที่บ้านเพื่อมาให้คำปรึกษากับเรา มาช่วยเพิ่มความเข้าใจให้กระจ่างในการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ช่วยประคับประคองให้เราค่อยๆช่วยกันคิด และตัดสินใจ จนในที่สุดเราสามารถหาคำตอบในการบริหารจัดการและ การวางแผนในเรื่องการดูแลแม่ได้ การให้คำปรึกษาในลักษณะนี้แม้จะมีแรงกดดันมากกับพวกเราในระยะแรกๆให้เราต้องคิดต้องหาคำตอบในเรื่องใหม่ที่ยาก แต่เมื่อวันคืนผ่านไป ข้าพเจ้าคิดว่าการที่เราได้กลั่นกรองจนตกผลึกทางความคิด การร่วมกันตัดสินใจและโดยเฉพาะในเรื่องของการทำใจให้พร้อม เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการดูแลผู้ป่วยประคับประคองระยะสุดท้าย
สำหรับความเข้าใจเรื่อง การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของโรคและครอบครัว (Palliative care) หมายถึง วิธีการดูแลผู้ป่วยที่ป่วยเป็นระยะสุดท้ายของโรคและครอบครัว โดยให้การป้องกันและบรรเทาอาการตลอดจนความทุกข์ทรมานด้านต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น การดูแลจะเน้นการดูแลเป็นองค์รวมครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพ อันได้แก่ กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณของผู้ป่วย ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือ ลดความทรมานของผู้ป่วยและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว และทำให้ผู้ป่วยได้เสียชีวิตอย่างสงบ อาจารย์หมออธิบายว่าถ้าแม่สามารถสื่อสารเองได้ ท่านก็จะสอบถามกับแม่โดยตรงว่าต้องการทางเลือกเช่นไร แต่เมื่อแม่ไม่สามารถสื่อสารได้ ท่านก็จำเป็นต้องสอบถามความคิดเห็นทางญาติและหาผู้ตัดสินใจทุกอย่างแทน โดยหน้าที่ของแพทย์จะทำเต็มที่เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยโดยใช้ทุกวิธีทางการแพทย์ แต่อาจจะไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลับเป็นการเพิ่มความทรมานแก่ผู้ป่วยในเวลาที่เหลืออยู่
ทุกท่านคงจะทราบดีว่าการไปหาหมอในโรงพยาบาลรัฐบาลนั้น เราจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับการนั่งรอ ก่อนพบแพทย์ครั้งละนานๆ และพบหมอได้ไม่เกิน 10-15 นาที เพราะคนไข้เยอะมาก ในช่วงที่แม่ออกจากโรงพยาบาลในครั้งแรกช่วงต้นปี ข้าพเจ้ารู้สึกท้อแท้ มีนัดต้องไปพบหมอแทนแม่ถึง 3-5 นัด ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรดี เนื่องจากการพาแม่ไปพบหมอทั้งหมดนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าแม่ต้องเดินทางมาจากบ้านด้วยรถพยาบาล การเตรียมการต่างๆในการดูแลแม่นอกพื้นที่นับเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเพราะต้องใช้อุปกรณ์หลายอย่าง ไหนจะเรื่องสถานที่ นอกจากนี้ข้าพเจ้ามีความวิตกกังวลหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นห่วงแม่ เกรงว่าท่านจะเหนื่อย
ข้าพเจ้าตัดสินใจไปพบ นายแพทย์ เจษฎา เขียนดวงจันทร์ หมอของแม่วันนั้นเป็นเย็นวันพุธ เหมือนกับ อาจารย์หมอจะเห็นหน้าข้าพเจ้าแล้ว เข้าใจได้เลย ว่าข้าพเจ้านั้นรู้สึกอย่างไรบ้าง ท่านกรุณาอธิบาย อาการของแม่ตั้งแต่เริ่มป่วย ความเชื่อมโยงและสาเหตุทั้งหมดของการเกิดโรค และแนะนำแนวทางในการรักษา สงสัยก็สอบถามกันไปเรื่อยๆ อาจารย์ กรุณาอธิบายและตอบได้ชัดเจนตรงประเด็น และช่วยแนะนำเรื่องการเฝ้าระวังโดยเฉพาะจุดที่อ่อนไหวอาจมีอันตรายในการดูแลหลายอย่าง เราใช้เวลาอยู่นานพักใหญ่ จากวันนั้นทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกดีขึ้นมากเพราะได้เห็นภาพโดยรวมถึงกระบวนการการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และพยาธิสภาพของโรค ทำให้เกิดความเข้าใจมั่นใจและรู้สึกเบาใจ ข้าพเจ้าโล่งใจขึ้นมาก ก่อนนั้นข้าพเจ้ามักจะวิตกกังวลว่าข้าพเจ้าจะไม่สามารถทำได้ดีพออยู่เสมอ เพราะแม่เองก็ไม่สามารถสื่อสารกับข้าพเจ้าได้ว่าต้องการอะไรบ้าง หรือไม่สบาย เจ็บตรงไหนบ้าง ขอบพระคุณ อาจารย์มากค่ะสำหรับทุกอย่างที่อาจารย์เมตตาทำให้พวกเรา พวกเรามั่นใจในการดูแลแม่ต่อไปมากขึ้นเพราะเรามั่นใจในทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ฮาเลลูยา
จากอาการป่วยของแม่ข้าพเจ้าขอขอบคุณมหาวิทยาลัย มหิดล ที่ข้าพเจ้ารัก สำหรับการดูแลบุคลากรเป็นอย่างดี ขอบคุณทีมแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ดูแลครอบครัวเราตลอดมา อยากให้อาจารย์หมอทุกท่านทราบว่าพวกเรา ซาบซื้งใจ พวกเรามั่นใจและอุ่นใจอยู่เสมอที่ได้รับการดูแลจากทีมอาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญ นานมาแล้วนับยี่สิบกว่าปี ข้าพเจ้ามักจะพาพ่อแม่ไปพบหมอที่คลีนิคผู้สุงอายุของโรงพยาบาลรามาธิบดี นับว่าพระเจ้าเมตตาพ่อแม่ของข้าพเจ้าที่ประทานโอกาสให้ท่านทั้งสองได้อยู่ในความดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกด้าน
ขอบคุณ อาจารย์หมอทางระบบประสาทของแม่ นายแพทย์ เจษฎา เขียนดวงจันทร์ ที่ดูแลแม่อย่างดีมายาวนาน จำได้ว่ามีช่วงนึงที่แม่ชอบนั่งทำดอกไม้แห้งใส่แจกัน แม่จะทำไปให้อาจารย์ หลายอัน เบี้ยวบาง แหว่งบ้าง อาจารย์ก็ยิ้มรับเสมอ ข้าพเจ้าคิดว่าความผูกพันของหมอกับคนไข้เช่นนี้เป็นความรู้สึกที่มีค่า อยากบอกอาจารย์ว่าแม่รักอาจารย์มาก อาจารย์เป็นหมอที่แม่มักจะเอ่ยชื่อถึงเสมอ ช่วงที่ท่านยังจำความได้ (บางทีท่านจำไม่ได้ก็บอกกับข้าพเจ้าว่า หมอเขียนพระจันทร์ พักหลังๆก็บอกว่า มูนๆ ซึ่งก็คงจะหมายถึง อาจารย์ หมอพระจันทร์ของแม่นั่นเอง ) อาจารย์เป็นอาจารย์หมอที่ใส่ใจในรายละเอียดของคนไข้ อาจารย์จะสื่อสารเชิงบวกกับพวกเรามาโดยตลอดว่าถ้าเป็นแบบนี้ก็ให้ดูแลแบบนี้นะ ข้าพเจ้าประทับใจอยู่เสมอกับการที่อาจารย์อธิบายเรื่องซับซ้อนทางประสาทวิทยาที่แสนยากให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายขึ้นได้เสมอ ทำให้พวกเราสามารถเข้าใจถึงที่มาที่ไป อาการเจ็บป่วยของแม่ได้ง่ายขึ้น ความห่วงใยให้คำแนะนำของอาจารย์ ทำให้เราเข้าใจแนวทางในการดูแลโรคที่ไม่มีทางรักษา เมื่อเราเข้าใจ ทำให้พวกเราไม่เครียดกันมาก และมีกำลังใจ ในการเผชิญความจริง การที่อาจารย์แนะนำให้พวกเรา จดจำ จดบันทึก รายละเอียดของแม่ในฐานะผู้ดูแลนั้นสำคัญมากเพราะจะต้องนำมาเล่าให้อาจารย์หมอฟังเพื่อใช้ในการปรับยาเมื่อไปพบอาจารย์ทุกสามเดือนเป็นเวลาหลายปีเมื่อแม่เริ่มมีปัญหาในการสื่อสาร ในช่วงหลังๆข้าพเจ้าไม่สามารถพาแม่มาโรงพยาบาลได้ ข้าพเจ้ามาพบอาจารย์แทน อาจารย์หมอก็กรุณาแนะนำโดยละเอียด สอนวิธีให้ถ่ายคลิปวีดิโอมาให้อาจารย์ดู ตอนที่แม่ป่วยอยู่โรงพยาบาล แม้อาจารย์จะไม่ใช่อาจารย์หมอเจ้าของไข้โดยตรงของแม่ อาจารย์ก็ยังดูแลแม่อยู่เสมอ อาจารย์มาเยี่ยมแม่ และกรุณา ส่งหมอประจำบ้านทีมอาจารย์มาดูแลแม่ ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจที่อาจารย์ห่วงใย ใส่ใจและมีเวลาให้คนไข้ของอาจารย์ เสมอ พวกเรารู้สึกว่าแม่และคนไข้ของอาจารย์ทุกคนนั้นช่างโชคดีที่ได้มาเป็นคนไข้ของอาจารย์ค่ะ
ขอบคุณทีมอธิษฐานคริสตจักรใจสมานและพี่น้องทุกท่านที่อธิษฐานเผื่อแม่เสมอ ขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจที่มีให้ครอบครัวเรา ขอพระเจ้าอวยพระพรทุกท่านค่ะ
ข้าพเจ้าขอบคุณพระเจ้าเสมอที่พวกเราได้มีโอกาสรับใช้และดูแลแม่ของเรามาตลอด 8-10 ปีที่ท่านป่วยด้วยโรคอัลไซน์เมอร์ พวกเรามีรากฐานชีวิตที่ดีวันนี้ได้เพราะแม่เป็นผู้ให้ทุกสิ่ง ดังนั้นถ้าเรายังพอทำอะไรได้เพื่อให้แม่ของเรานั้นมีความสุขที่สุดในช่วงเวลาที่เหลือของแม่ พวกเราทุกคนยินดีและเต็มใจเสมอ
ในวันขอบคุณพระเจ้านี้ ข้าพเจ้าขอหนุนใจ พี่น้องทุกท่านให้เราเรียนรู้ที่จะขอบพระคุณพระเจ้าในทุกกรณี (1 เธสะโลนิกา 5:18) ขอฝากแง่คิดว่าแม้ในบางสถานะการณ์ที่แสนยากลำบาก เราอาจจะขอบคุณพระเจ้าแทบจะไม่ไหว หลายครั้งเราอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องเกิดสิ่งเหล่านี้ในชีวิตเรา หลายครั้งเราตอบสนองพระเจ้าด้วยท่าทีเหมือนเด็กเล็กๆเวลาที่ไม่เข้าใจ ขอให้เราใช้สถานะการณ์เหล่านั้นช่วยให้เราได้เรียนรู้ที่จะเติบโตในพระเจ้า ขอให้เราอย่าลืมว่าพระเจ้าไม่เคยผิดพลาดและทรงรักเรา และความรักของพระองค์มั่นคงเป็นนิตย์ ดังนั้นเราไม่ควรน้อยใจ หรือต่อว่าพระเจ้า ขอให้เรามั่นใจในพระองค์ รักษาความเชื่อและจิตวิญญาณของเราให้ดี และขอให้เราหมั่นฝึกฝนใจของเราให้เรียนรู้ที่จะขอบพระคุณในทุกกรณีจากหัวใจของเราอยู่เสมอ เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตของเราพระเจ้าทรงดูแลและควบคุมอยู่ พระองค์จะทรงจัดเตรียมสิ่งที่ดีเลิศสำหรับลูกของพระองค์ ขอให้เราอย่างอ่อนระอาใจในการอธิษฐาน วิงวอนและขอบพระคุณ และสันติสุขที่พระเจ้าให้จะครองใจท่าน
ขอพระเจ้าทรงสถิตย์อยู่ด้วย และอำนวยพระพร ขอพระคุณ ความรัก และสันติสุข ดำรงอยู่กับทุกท่านในวันขอบคุณพระเจ้าค่ะ
ดวงรัตน์ อินทร (องุ่น)
อีเมล์ [email protected]
7 พฤศจิกายน 2019 เวลา 11.30 น
เอกสารอ้างอิง
1.นายแพทย์ กิติพล นาควิโรจน์ หลักการของ Palliative care ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว
2.พระเจ้าทรงฟังคำอ้อนวอนของเราอยู่เสมอ …….ประสบการณ์เมื่อแม่ป่วยหนัก (ภาค 1) (link)