พระเจ้าเป็นความจริง
พระธรรมโยบ 11: 7 – 8 กล่าวว่า “ท่านจะหยั่งสภาพของพระเจ้าได้หรือ ท่านหยั่งรู้องค์ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ได้หมดหรือ นั่นสูงกว่าฟ้าสวรรค์ ท่านจะทำอะไรได้ลึกกว่าแดนคนตาย ท่านจะทราบอะไรได้ นี่เป็นความจริงที่ไม่มีใครเถียงได้ เพราะพระเจ้าสูงสุด ไม่มีอะไรจำกัด-พระองค์ได้ การที่มนุษย์มีความรู้และความสามารถจำกัดจะหยั่งรู้สภาพของพระเจ้าผู้ไม่มีขอบเขตจำกัดนั้นเป็นไปไม่ได้เลย
เพราะมนุษย์ไม่สามารถหยั่งรู้สภาพของพระเจ้าทั้งหมดได้นั่นเอง ทำให้มนุษย์พยายามปฎิเสธว่าไม่มีพระเจ้า แม้ว่ามนุษย์จะพยามปฎิเสธเรื่องพระเจ้า แต่ภายในใจหาได้ปฎิเสธไม่ “เหตุว่าเท่าที่จะรู้จักพระเจ้าก็แจ้งอยู่กับเขาทั้งหลาย เพราะว่าพระเจ้าได้ทรงโปรดสำแดงแก่เขาแล้ว ( โรม 1 :18 )
ความจริงประการแรกที่ชี้ให้เห็นว่ามีพระเจ้า คือ ธรรมชาติ
เพราะเมื่อเราพิจารณาดูธรรมชาติอย่างใคร่ครวญ ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน ต้นไม้ สัตว์ หรือมนุษย์ เราจะพบความวิจิตรพิสดารของพระผู้สร้าง เพราะเราสังเกตุพบว่า “พระเจ้าทรงประทานรูปร่างต้นของเมล็ดนั้นตามที่พระองค์ทรงเห็นชอบ และทรงประทานรูปร่างแก่เมล็ดพืชทุกพรรณตามชนิดของมัน เพราะว่าเนื้อนั้นไม่เหมือนกันหมดทุกอย่าง เนื้อมนุษย์ก็อย่างหนึ่ง เนื้อสัตว์ก็อย่างหนึ่ง เนื้อนกก็อีกอย่งหนึ่ง เนื้อปลาก็อีกอย่างหนึ่ง ศักดิ์ศรีของดวงดาวก็อย่างหนึ่ง แท้จริงศักดิ์ศรีของดาวดวงหนึ่งก็ต่างจากศักดิ์ศรีของดาวอีกดวงอื่น ๆ (1ค.ร 15: 18 ,19 ,40)
เมื่อเราพิจารณาดูธรรมชาติเหล่านี้ย่อมเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดจากสติปัญญาอันเลอเลิศของบุคคลผู้หนึ่งซึ่งคริสตชนขนานนามพระองค์ว่า “พระเจ้า” อ.เปาโลกล่าวว่า “สภาพที่ไม่ปรากฎของพระเจ้านั้น คือ ฤทธิ์ฤานุภาพอันถาวร และเทวสภาพของพระองค์ก็ได้ปรากฎชัดในสรรพสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสร้าง (โรม 1: 20)
ความจริงประการที่ 2 ที่ชัดเจนว่ามีพระเจ้า คือ “ศาสนา”
ไม่ว่ามนุษย์จะเกิดในที่ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าลึก หรือในที่ศิวิไลของอารยธรรม ต่างสำนึกว่า “มีผู้หนึ่งที่อยู่เหนือพวกเขา ซึ่งเขาเรียกว่า ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ” หรือ พระเจ้าที่ไม่รู้จัก ( กจ. 17 : 23 ) มนุษย์ต่างพากันขบคิดว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” หรือพระเจ้าที่ตนไม่รู้จักคือผู้ใด ผลของการแสวงหานี่เองก่อเกิด “ศาสนา”
ความจริงประการที่ 3 คือ ” มโนธรรม ” หรือ ” จิตสำนึกผิดชอบ “
แม้บุคคลนั้นจะไม่มีศาสนา ไม่รู้จักหลักศีลธรรม แต่มนุษย์ก็ไม่อาจปฎิเสธกฎของมโนธรรมได้ มโนธรรมทำหน้าที่บอกให้เรารู้ว่า มนุษย์ควรมีชีวิตอย่างไร เขาทำอะไร และไม่ควรทำอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาปฎิเสธไม่ได้ นักปรัชญาคนหนึ่งกล่าวว่า ” มีสองสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจ และยำเกรงในทุกครั้งที่ข้าพเจ้าคิดถึง คือท้องฟ้าเบื้องบนที่เต็มไปด้วยหมู่ดาว และกฎศีลธรรมในจิตใจมนุษย์
ถ้ามนุษย์ทุกคนต่างมีความรู้สึกเหมือนกันว่า ” มีสิ่งที่ฉันควรทำ” ก็ต้องมีบุคคลที่ชักนำให้เห็นว่า เราต้องทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ และคริสตชนเรียกบุคคลนั้นว่า ” พระเจ้า ”
ความจริงประการที่ 4 ประวัติศาสตร์
ถ้าเราได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติต่างๆ จะเห็นได้ว่าพระเจ้าทรงมีบทบาทเกี่ยวข้องอยู่ไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะชนชาติอิสราเอล หรือ ยิว เพราะชนชาตินี้บทบาทอย่างสำคัญต่อการล่มสลาย และการตั้งอยู่ของชนหลายชาติ จากการพิจารณาดูประวัติศาสตร์ของชาตินี้ควบคู่กับการศึกษาพระคัมภีร์ เราอาจจะเห็นได้ชัดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอลนั้นเป็นไปตามพันธสัญญาที่พระเจ้าได้ทรงให้ไว้กับอับราฮัมจริง ๆ “จงจำสิ่งที่ล่วงแล้วในสมัยก่อน ไว้ เพราะเราเป็นพระเจ้า และไม่มีอื่นใดอีกเลย” ( อสย. 46 : 9 )
ตัวอย่าง
ชาวยิวจะไม่มีประเทศของตนเอง (อสย. 21: 24 )
พระเจ้าจะทรงนำชนชาติยิวกลับสู่สภาพเดิม (อสย. 39: 25 ,27 ,28 )
พระเจ้าจะทรงนำชนชาติยิวมาจากทุกทิศทุกทางเพื่อก่อตั้งประเทศใหม่ (อสย. 43: 5 ,7 )
ชนชาติยิวจะชนะชนชาติอียิปต์และประเทอื่น ๆ (อสย.43 :3 ,4)
กรุงเยรูซาเล็มจะกลับมาอยู่ในการครอบครองของอิสราเอลอีก (ลก. 21: 24 )
ความพ่ายแพ้ของชนชาติศัตรู (อสย.41 : 4-14 )
ความจริงประการที่ 5 คือ กฎแห่งกรรม
กฎแห่งกรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถปฎิเสธได้ เพราะผู้ใดหว่านอย่างใด ก็จะได้เก็บเกี่ยวอย่างนั้น ( กท. 6 :7 )เมื่อกฎยังคงอยู่ก็แสดงว่าต้องมีผู้ควบคุมกฎ
ความจริงประการที่ 6 คือ พระเยซูคริสต์
พระเยซูคริสต์ทรงสอนว่ามีพระเจ้า และได้สอนว่าพระองค์มาจากพระเจ้า และพระเจ้าทรงใช้พระองค์มา (ยน.8 :42 ,17 :3 )และพระองค์กับพระเจ้าเป็นองค์เดียวกัน (ยน.10: 30 ,13: 13 ,14: 9 )
การที่พระเยซูคริสต์กล่าวเช่นนี้อาจเป็นไปได้ที่พระองค์อาจจะเป็นคนลวงโลก แต่จากการที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของพระองค์ ทำให้เรารู้ว่าแม้แต่ศัตรูของพระองค์ก็ยังไม่สามารถหาความผิดจากพระองค์ได้ (ยน.18: 20-23 ,19 :4- 5) ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะกล่าวโทษพระองค์ได้ (มธ.27 :63 )
ใครสร้างพระเจ้า
ใครเป็นผู้สร้างพระเจ้า พระธรรมเหล่านี้จะตอบเราได้
อสย.41: 4 , ว.ว.22 :13 พระเจ้าตรัสว่า “เราเองคือพระเจ้าผู้เป็นปฐม และเป็นอวสาน ”
อสย.41: 11 พระเจ้าตรัสว่า “ก่อนหน้าเราไม่มีพระใดถูกปั้นขึ้น และภายหลังเราจะไม่มี”
อสย.44 : 6 พระเจ้าตรัสว่า “เราเป็นผู้ต้น และเราเป็นผู้ปลาย นอกจากเรา ไม่มีพระอื่น”
อสย.44 : 24 พระเจ้าทรงสร้างสิ่งสารพัด ผู้ทรงขึงฟ้าสวรรค์แต่ลำพัง ผู้ทรงกางแผ่นดินโลก ผู้ใดอยู่กับเรา
ยน.5: 26 พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “พระบิดาทรงมีชีวิตในพระองค์เอง”
พระเจ้าทรงเป็นบุคคล หรือเป็นนามธรรม
คำว่าบุคคล ในที่นี้ หมายถึง พระลักษณะที่เป็นสภาพของบุคคลที่เป็นตัวตนนั่นคือ บุคคลิกลักษณะอันประกอบด้วย พระปัญญา ความรู้สึก ความตั้งใจ
ส่วนคำว่านามธรรม เราหมายถึง สิ่งที่ไม่มีตัวตน เป็นแต่สิ่งสมมติขึ้นเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ พิจารณาจากพระธรรมเหล่านี้ที่แสดงถึงพระลักษณะของพระองค์
ยรม.10 :10-16 พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ ทรงพระพิโรธ ทรงสร้างสรรค์ได้ ทรงมีสติปัญญา ทรงมีความเข้าใจ และทรงเปล่งสุรเสียงได้
สดด.94 :9 ,10 พระองค์ทรงยินได้ เห็นได้ และทรงขนาบได้ ทรงสอนความรู้ให้มนุษย์ได้
ปฐก.1 :26 ,27 มนุษย์เป็นฉายาของพระองค์เป็นบุคคล แสดงว่าพระเจ้าทรงเป็นบุคคลด้วย
อฟ.4: 20 ,24 ทรงมีความชอบธรรม และความบริสุทธิ์ที่แท้จริง
มธ.6 :10 ,7: 21 ,รม. 12: 2 ทรงมีพระเจตนา
พระนามพระเจ้า
พระเจ้ามิได้บัญญัติพระนามหนึ่งพระนามใดสำหรับพระองค์โดยเฉพาะ ดังเช่นเมื่อพระองค์เผยกับโมเสสแล้วว่า ” เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น ” (อพย. 3: 14) และพระองค์ได้บอกกับโนอาห์ว่า ” ถามชื่อเราทำไม ชื่อเราก็มหัศจรรย์อยู่ ” (วนฉ. 11:18) ซึ่งเราจะพบว่าการปรากฎแต่ละครั้งของพระเจ้าก็ใช้ชื่อต่างกันออกไปที่เหมาะกับการปรากฎแต่ละครั้ง เช่นคำว่า ” พระเจ้า ” ในปฐก.1 :1 ภาษาเดิมใช้คำว่า “เอโลฮิม” แปลว่า ” พระเจ้าผู้มีกำลัง และมั่นคงในคำสาบาน ” ปฐก.14 :18 ใช้นามว่า ” พระเจ้าผู้สูงสุด ” (เอลายโอม ) เพื่อสำแดงความยิ่งใหญ่ของพะรเจ้า ปฐก. 17: 1 ใช้นามว่า ” พระเจ้าผูทรงมหิธิฤทธิ์ ” (เอล ซาดดาย ) เพื่อยืนยันว่าพระเจ้าทำทุกสิ่งได้ ปฐก. 21: 33 ใช้นามว่า ” พระเจ้านิรันดร์ ” เพื่อยืนยันความเป็นพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์
” เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น ” (อพย. 3 :14) หมายความว่า อย่าได้ใช้ชื่อที่มนุษย์ตั้งขึ้นเพื่อบังคับพระองค์ให้อยู่ในชื่อนั้นตลอดไป เพราะพระองค์ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะถูกจำกัดได้ด้วยชื่อใด ๆทั้งสิ้น
บทความโดย ศจ.เจียมเม้ง แซ่เล้า