ความหมายของความรอด
คำว่า ” ความรอด ” ในภาษากรีกนั้นเดิมเขาใช้ในความหมายที่ว่า “การทำให้สมบูรณ์เหมือนเดิม เช่น รักษาคนเจ็บป่วยให้หาย ซ่อมแซมสิ่งที่แตกหักให้คืนรูปเดิม หรือปลดปล่อยสิ่งที่ถูกผูกมัดให้เป็นอิสระ กู้เรือที่อับปางขึ้นมาใหม่ หรือฉุดขึ้นมาจากหลุม สดด. 40: 2
เราได้ศึกษาแล้วว่า บาปได้ทำลายธรรมชาติของมนุษย์เราให้เสียไป มันทำให้เขาต้องมีชีวิตที่ขัดแย้งกับทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวของเขาเอง
ประการแรกขัดแย้งกับธรรมชาติปฐก. 3:16-19 เช่น การคลอดบุตรที่จะมีแต่ความโสมนัสยินดี กลับเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ปฐก.3:16 และดู รม.8: 9-22
ประการที่สอง เขาขัดแย้งกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แทนที่พี่น้องจะเกิดมาเพื่อช่วยเหลือกันและกันในยามทุกข์ยากตามคำสอนของพระคริสตธรรมคัมภีร์ สภษ.17 :17 เขากลับหาวิธีทำลายกัน และฆ่ากัน ปฐก.4 :1-15 ดู รม.1: 29-31
ประการที่สาม เขาขัดแย้งกับตนเอง รม.7: 15- 25
ประการที่สี่ เขาต้องขัดแย้งกับพระเจ้า แทนที่จะเข้าหาอย่างปิติยินดี เขากลับซ่อนตัวด้วยความกลัว ปฐก.3: 8-10 ,รม.10: 21 สิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการทำให้สมบูรณ์ในความรอด คือต้องกลับคืนดีกับพระเจ้า 2 คธ.5 :17 นี่คือความหมายที่แท้จริงของความรอด
เรารูว่าบาปทำให้ธรรมชาติของมนุษย์เสียไป ความรอด จึงหมายถึงการให้ธรรมชาติใหม่แก่มนุษย์ เพื่อเขาจะไม่ใช่บุคคลที่เพียงแต่ทำความดีเท่านั้น แต่เป็นคนที่ดีในสายพระเนตรพระเจ้าด้วย 2 คธ.5: 17 ,อฟ. 2: 4 ,9 ,11 การให้ธรรมชาติใหม่ของมนุษย์เท่านั้นจึงจะแก้ไขปัญหาความบาปได้ พระเยซูคริสต์ทรงช่วยให้เรารอดพ้นบาป โดยทรงประทานธรรมชาติแห่งมนุษย์ใหม่ของพระองค์แก่เรา ทต.3: 5
“เมื่อความบาปทำลายธรรมชาติของมนุษย์เดิมเสียไป การทำให้เกิดความสมบูรณ์สู่สภาพเดิม ก็คือทางแห่งความรอด”
การแสวงหาความรอดของมนุษย์
ตั้งแต่มนุษย์คนแรกตกลงไปในความบาปแล้ว มนุษย์ชาติก็ได้คิดค้นหาวิธีทางที่จะหวนกลับคืนสู่สภาพเดิม และการคิดค้นหาวิธีกลับคืนสู่สภาพเดิมนี่เอง ก่อให้เกิดลัทธิ และศาสนาต่าง ๆ ขึ้นอย่างมากมาย บางศาสนาก็สอนให้ทรมานตนเอง เพื่อความหลุดพ้น บางศาสนาก็หาสวิธีเซ่นสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บางศาสนาก็สอนถึงการรักษาศีล และประพฤติชอบ แต่พระคัมภีร์กล่าวว่า “เราทั้งหลายได้หลงทางไปเสียแล้ว” อสย. 53:6 ต้นเหตุแห่งการหลงนั้น ท่านเปาโลกล่าวว่า “เพราะเขาไม่รู้จักความชอบธรรมที่พระเจ้าประทานให้ แต่อุตส่าห์ตั้งความชอบธรรมของตนขึ้นมา เขาจึงไม่ยอมอยู่ในความชอบธรรมของพระเจ้า” รม. 10:3
คำถามที่มักได้ยินอยู่เสมอก็คือ “ข้าพเจ้าต้องทำดีประการใด จึงจะได้ชีวิตนิรันดร์ (ความรอด) มธ.14:16 ทั้งนี้เพราะเข้าคิดว่า เขาจะรอดได้โดยการกระทำดีบางประการของเขา ดังนั้นเขาจึงพยายามทำดีในทัศนะของเขาโดยการถือศีลกินบวชบ้าง บำเพ็ญกิริยาบ้าง ให้ทานบ้าง แต่เขาไม่สามารถทำดีได้ พระเจ้าได้ถึงความพยายามเหล่านี้ว่า ” คนเอธิโอเปียเปลี่ยนวรรณ (ผิว) ของตนเองได้หรือ หรือเสือดาวเปลี่ยนลายของมันได้หรือ ถ้าได้แล้ว เจ้าทั้งหลายผู้เคยกระทำชั่ว จะมากระทำดีได้ ” ยรม. 13 :23
ที่พระเจ้าตรัสเช่นนั้นก็เพราะ “พระองค์รู้จักเขา (มนุษย์) ทุกคน…ด้วยว่าพระองค์ทรงทราบทุกสิ่งที่มีอยู่ในมนุษย์ ” ยน.2: 24 , ปต. 2: 5 ทรงทราบว่ามนุษย์ทุกคนเป็นคนบาปมีธรรมชาติที่ชั่ว เปรียบเทียบต้นไม้เลวจะเกิดผลดีไม่ได้ มธ. 7 :18 ไม่มีใครสักคนเดียวที่พ้นจากอำนาจบาปได้ และสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ สดด.49: 7,9 และไม่มีส่วนใดในตัวเขาที่พ้นจากการครอบงำของความบาป รม. 3: 13- 16 ดังนั้นจึงอาจจะสรุปได้ว่า ความพยายามของมนุษย์ในการช่วยตนเองให้รอดกลับกลายเป็นบาปที่ร้ายแรงที่สุด การถือว่าตนเองชอบธรรมก็ขัดแย้งอย่างร้ายที่สุดต่อความรักของพระเจ้า ตัวอย่างในสมัยพระคริสต์ พวกฟาริสี เป็นพวกที่มีความปราถนาอย่างแรงกล้าที่จะช่วยตนเองให้พ้นบาป ความพยามนี้ทำให้เขาคิดว่าตนเองเป็นคนชอบธรรม ลก. 18 :4-14 และทำให้เขาทำบาปที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก คือ ร่วมในการประหารพระเยซูคริสต์ มก. 3: 6 จึงเข้าทำนองยิ่งดิ้นยิ่งพัน เหมือนลิงติดแห
ยิ่งกว่านั้นแม้ว่ามนุษย์จะพยายามทำความดีเท่าใดในสายพระเนตรของพระเจ้า การกระทำอันชอบธรรมของข้าพระองค์ทั้งสิ้นเหมือนเสื้อผ้าที่สกปรก” (อสย.64: 6 ) เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีมนุษย์คนใดเลยที่จะทำดีจนถึงขั้นรอบคอบตามมาตรฐานของพระเจ้าได้ เขาจึงไม่สามารถช่วยตนเอง และคนอื่นได้เลย
การจัดเตรียมความรอดของพระเจ้า
ก่อนที่โลกนี้จะได้รับการสร้างขึ้น หรือก่อนที่มนุษย์จะตกลงในความบาปพระเจ้าทรงทราบล่วงหน้าแล้วว่ามนุษย์จะตกไปในความผิดบาป จึงจัดเตรียมหนทางแก้ไขไว้ล่วงหน้าแล้ว ท่านเปโตรกล่าวว่า “แท้จริงพระเจ้าได้ทรงดำริพระคริสต์นั้นไว้ก่อนทรงสร้างโลก แต่ทรงให้พระคริสต์ปรากฎพระองค์วาระสุดท้าย เพื่อท่านทั้งหลาย 1 ปต.1: 20
และในทันทีที่มนุษย์ตกไปในความบาป พระเจ้าได้ทรงให้ร่องรอยแห่งความหวังนี้แก่มนุษย์ในเวลานั้นเอง เมื่อพระองค์รับสั่งว่า “เราจะให้เจ้ากับหญิงนี้เป็นศัตรูกัน ทั้งพงศ์พันธุ์ของเจ้า และพงศ์พันธุ์ของเขาด้วย พงศ์พันธุ์ของหญิงจะทำให้หัวของเจ้าแหลก และเจ้าจะกระทำให้ส้นเท้าของเขาฟกช้ำ ปฐก.3 :15 จากพระสัญญานี้ ได้ชี้ให้เราเห็น 3 ประการ คือ
- ผู้หญิงคนหนึ่งจะมีบุตรชายคนหนึ่ง
- บุตรชายคนนี้จะมาเพื่อทำลายซาตาน
3.ซาตานจะทำให้ส้นเท้า (ร่างกาย) ของบุตรของหญิงนั้นฟกช้ำ
ต่อจากนั้นพันธสัญญาเดิมก็เริ่มชี้ให้เห็นพระคริสต์ในลักษณะของแบบเล็งต่าง ๆ เช่น ในเรื่อง สัตว์ที่ถูกฆ่าเพื่อไถ่บาป เช่น โคผู้ ลูกแกะที่ปราศจากจุดด่าง แกะปัศกาแพะที่ถูกฆ่าในวันไถ่โทษ เครื่องสัตว์บูชาเหล่านี้เป็น ” เพียงเงาของสิ่งประเสริฐ (พระคริสต์) ที่จะมาภายหลัง ”
เราได้ศึกษามาแล้วว่า พระเจ้าได้ทรงกำหนดพระคริสต์ไว้ตั้งแต่ก่อนการสร้างโลก และในปฐก. 3: 15 กล่าวว่า พระคริสต์จะเสด็จมาในพงศ์พันธุ์ของหญิงแต่นับจากนั้นมา พงพันธุ์ของหญิงก็แผ่ออกอย่างมากมาย จนในที่สุดพระเจ้าก็ได้ทำให้เกิดการแตกแยกภาษาขึ้นที่หอบาเบล ต่อจากนั้นมนุษย์ก็เริ่มแบ่งออกเป็นชาติตามภาษาที่แตกแยกออกนั้น และพระเจ้าได้ทรงเลือกชายคนหนึ่งออกจากบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อก่อตั้งชาติใหม่ ชายผู้นี้คือ อับราฮัมบิดาแห่งความเชื่อ และชาติที่ตั้งขึ้นนี้คือ อิสราเอล หรือยิว พระเจ้าได้ตรัสว่า “บรรดาเผ่าพันธ์ทั่วโลกจะได้พรเพราะเจ้า” ปฐม. 12: 3 และต่อมาภายหลังได้เน้นอีกว่า “ประชาชาติทั้งหลายทั่วโลกจะได้พรเพราะเชื้อสายของเจ้า” ปฐก.22: 18
ข้อความนี้ชี้ให้เห็นว่าความรอดจะมาทางบุคคลผู้หนึ่ง ที่จะมาทางเชื้อสายของอับราฮัม “ซึ่งเป็นพระคริสต์” กท. 3 :16
พระเยซูทรงชี้แจงว่า “ความรอดนั้นมาจากพวกยิว ” ยน. 4: 22 และจากชนชาติยิว พระเจ้าก็ทรงได้เลือกเชื้อวงศ์ของดาวิด และคำสัญญาสุดท้ายเกี่ยวกับเชื้อวงศ์ของพระคริสต์ อยู่ที่ อสย.7: 14 “ดูเถิดหญิงพรหมจารีคนหนึ่งจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชายคนหนึ่ง”
แผนการณ์แห่งความรอดของพระเจ้า นั่นคือให้พระคริสต์เสด็จเข้ามาในโลก เพื่อพลีพระชนม์ของพระองค์เป็นค่าไถ่มวลมนุษชาติ เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนใน สดด. 22 ,อสย. 52: 11 – 53 :16 ซึ่งเป็นคำทำนายล่วงหน้าของ
กษัตริย์ดาวิด และอิสยาห์ ซึ่งสำเร็จครบถ้วนในพระเยซูคริสต์ พระเยซูคริสต์ว่า ” บุตรมนุษย์มิได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ แต่ท่านมาเพื่อปรนนิบัติเขา และประทานชีวิตของท่านเป็นไถ่คนเป็นอันมาก” มธ. 20 :28 ,1 คธ.15: 1 , 4,กท. 1: 4
ความมั่นคงของความรอด
จาก 1 คร.3 :11-15 ได้ชี้ให้เราเห็นว่าผู้เชื่อทุกคนได้รับความรอดแล้ว จะไม่มีโอกาสสูญเสียความรอดอีกเลยเพียงแต่จะรอด เหมือนดังรอดจากไฟเท่านั้น ถ้าเราเข้าใจหลักความจริงทีว่า ” ความรอดเป็นสิ่งที่ได้มาจากพระคุณของพระเจ้า ” เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้กับเราเปล่า ๆ “พระองค์ช่วยให้เรารอด มิใช่ด้วยการกระทำของเราเอง แต่พระองค์ทรงกรุณาชำระเราให้มีใจบังเกิดใหม่ และทรงสร้างเราขึ้นมาใหม่โดยพระวิญญาณ (ทต.3: 5 ) ดูข้อ 6-8 ด้วย เมื่อความรอดไม่ขึ้นกับการประพฤติดี หรือชั่วของเรา การประพฤติของเราก็ไม่มีส่วนในการทำให้เราต้องสูญเสียความรอด
หลักความจริงที่ชี้ให้เห็นว่าผู้เชื่อจะไม่พินาศเลยนั้น ปรากฎอยู่ในพระคัมภีร์อย่างมากมาย เช่น ยน. 3: 16 “เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่จะมีชีวิตนิรันดร์ ,ยน. 5: 24 “ถ้าผู้ใดฟังคำของเรา และวางใจพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา ผู้นั้นก็จะมีชีวิตนิรันดร์และไม่ถูกพิพากษา แต่ได้พ้นจากความตาย สู่ชีวิตแล้ว ” ยน.10 : 28 -29 ” เราได้ให้ชีวิตแก่แกะนั้น แกะนั้นจะไม่พินาศเลย และจะไม่มีใครแย่งชิงแกะเหล่านั้นไปจากเราได้ พระบิดาเราผู้ประทานแกะนั้นให้แก่เราเป็นใหญ่กว่าทุกสิ่ง และไม่มีผู้ใดอาจชิงแกะนั้นจากพระหัตถ์ของพระบิดาของเราได้”
ในเมื่อความรอดของเราไม่มีทางสูญเสียแล้ว ทำไมคริสเตียนเราต้องทำดีด้วยเล่า ?
ประการแรก “เพราะว่าพระคุณของพระเจ้าได้ปรากฎแล้ว เพื่อช่วยคนทั้งปวงให้รอด สอนให้เราละทิ้งความอธรรมและโลกีย์ตัณหา ให้ดำเนินชีวิตอย่างมีสติสัมปชัญญะ สัตย์ซื่อสุจริต และตามคลองธรรมคอยท่าความสุข ซึ่งจะได้รับตามความหวัง ได้แก่การปรากฎของพระสิริของพระเจ้ายิ่งใหญ่ คือพระเยซูคริสต์พระผู้ช่วยให้รอดของเรา ผู้ทรงประทานพระองค์เองให้เรา เพื่อไถ่เราให้พ้นจากการอธรรมทุกอย่าง และชำระเราให้บริสุทธิ์ เพื่อให้เป็นหมู่ชนพิเศษเฉพาะพระพักตร์พระองค์ และเป็นคนที่ขวนขวายกระทำการดี ทต. 2: 11-14
ประการที่สอง ที่เป็นเหตุให้คริสเตียนต้องทำความดีก็เพราะ “พวกเราได้ตายต่อบาปแล้ว จะมีชีวิตในบาปต่อไปอย่างไรได้ รม.6 :2 และเราได้รับการสร้างให้เป็นคนใหม่ในพระคริสต์ “เหตุฉะนั้นถ้าผู้ใดอยู่ในพรคริสต์ ผู้นั้นเป็นคนที่ถูกสร้างใหม่แล้ว สิ่งสารพัดก็ล่วงไป นี่แน่ะกลายเป็นสิ่งใหม่ทั้งนั้น 2 คธ.5 :17
ประการที่ 3 ที่ทำให้คริสเตียนเราทำความดี เพราะเราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าที่ทรงสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์ เพื่อให้ประกอบการดี ซึ่งพระเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อให้กระทำ อฟ.6: 10
วาระทั้งสามของความรอด
ความรอดบาป ตามนัยของพระคัมภีร์แบ่งออกเป็น 3 วาระ คือ
วาระแรก ผู้เชื่อได้รับการช่วยเหลือให้พ้นจากความบาป ดู ลก. 7: 48,49 รม. 6: 23 การที่พระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน เป็นการช่วยผู้เชื่อให้พ้นจากโทษฑัณฑ์ของความบาปที่ต้องได้รับ ” ท่านถูกบาดเจ็บเพราะความทรยศของเราทั้งหลาย ท่านฟกช้ำ เพราะความผิดของพวกเรา การตีสอนอันทำให้เราทั้งหลายสมบูรณ์นั้นตกแก่ท่าน ที่ท่านต้องฟกช้ำ ก็เพื่อให้เราหายดี” อสย. 53 :4 “พระองค์เองได้ทรงรับแบกบาปของเราไว้ในพระกายของพระองค์ที่ต้นไม้นั้น เพื่อว่าเราทั้งหลายจะได้ตายจากบาป ได้ดำเนินชีวิตตามคลองธรรมด้วยบาดแผลของพระองค์ ท่านทั้งหลายจึงได้รับการรักษาให้หาย ” 1 ปต. 2 : 24
วาระที่ 2 วาระของความรอดพ้นจากการครอบงำของความผิดบาป ตาม รม. 6 : 19 ซึ่งกล่าวว่า “เพราะว่าบาปจะครอบงำท่านทั้งหลายต่อไปก็หามิได้ เพราะว่าท่านทั้งหลายมิได้อยู่ในธรรมบัญญัติ แต่อยู่ในพระคุณพระเจ้า” และโรม 8 : 2 กล่าวว่า “เพราะว่ากฎของพระวิญญาณแห่งชีวิตในพระเยซูคริสต์ได้กระทำให้ข้าพเจ้าพ้นบาป กฎแห่งบาป และความตาย”
ฮบ.7: 25 ,กท.2: 14 – 20 ,2 คธ. 3 :18 ,รม. 6 : 4 โดยการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์และการเสด็จกลับมาในนามของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพื่อประทับอยู่ภายในผู้เชื่อ ทำให้ผู้เชื่อพ้นจากการครอบงำของความบาปที่ละเล็กละน้อย ในการดำเนินชีวิตประจำวันกับพระองค์ในปัจจุบันนี้ จนเราค่อยๆ มีชีวิตที่คล้ายกับพระคริสต์มากขึ้นทุกที
วาระที่ 3 ของความรอด ก็คือ การที่ผู้เชื่อจะพ้นจากความบาปอย่างสิ้นเชิง
วาระนี้จะมาถึงเมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จกลับมา รม.13: 10 ” เพราะว่าเวลาที่เราจะรอดนั้นใกล้ว่าเวลาที่เราได้เริ่มเชื่อนั้น” และใน 1 ปต.1 : 4 “ผู้ซึ่งเป็นผู้ที่ฤทธิ์เดชของพระเจ้าได้ทรงคุ้มครองไว้ด้วยความเชื่อให้ถึงความรอด ซึ่งพร้อมแล้วที่จะปรากฎในวาระสุดท้าย” 1 ยน. 3 : 2 กล่าวว่า “ท่านที่รักทั้งหลายบัดนี้เราทั้งหลายเป็นบุตรของพระเจ้า และยังไม่ปรากฎว่าต่อเบื้องหน้านั้น เราจะเป็นอย่างไร แต่เรารู้ว่าเมื่อพระองค์จะเสด็จมาปรากฎนั้น เราทั้งหลายจะเป็นเหมือนพระองค์ เพราะว่าเราจะเห็นพระองค์อย่างที่พระองค์ทรงเป็นอยู่นั้น 1 ธส.3 : 6
แม้ว่าพระคริสตธรรมคัมภีร์จะชี้ให้เห็นอย่างชัดจนว่า ผู้เชื่อแท้ทุกคนที่ได้รับความรอดแล้วจะไม่พินาศอีกเลยก็ตาม แต่เราก็ไม่ประมาท เพราะพระคัมภีร์สอนว่า เมื่อพระเจ้าทรงรับเราเป็นบุตรแล้ว ถ้าเราทำผิดเราก็ต้องได้รับการตีสอนจากพระองค์ ฮบ.12: 5 – 12
พระเจ้าทรงตีสอนเราเพราะ
พระองค์ทรงรักเรา ฮบ.12: 5
เพื่อเป็นประโยชน์แก่เรา ฮบ. 12: 10
เพื่อให้เราได้เข้าในวิสุทธิ์สถานของพระองค์ ฮบ.12 :10
เพื่อไม่ให้เราถูกพพิพากษาไปกับโลก 1 คร.11: 12
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า การตีสอนนั้น ๆ จะต้องมาในแบบเดียวกันทุกครั้งไป เพราะพระเจ้าทรงทราบดีว่า บุตรของพระองค์แต่ละคน ควรได้รับการตีสอนในรูปแบบใด ซึ่งพระเจ้าเป็นผู้ไม่เคยผิดพลาดจะเป็นผู้จัดการให้เหมาะสมทุกครั้งไป
บทความโดย ศจ.เจียมเม้ง แซ่เล้า