นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นประมุขแห่งประเทศไทย เป็นต้นมา พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยตลอดพระชนมายุของพระองค์ โดยพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ คือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ของประเทศ ดังในปฐมพระบรมราชโองการในระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม”

ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี

พ.ศ. 2503 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่หลังจากที่ได้เลิกร้างไปตั้งแต่ พ.ศ. 2479

ทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยแขนงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย สถาปัตยกรรม จิตรกรรม นาฏศิลป์ การดนตรีและศิลปะอื่น ๆ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดทำโน้ตเพลงไทยตามระบบสากลและจัดพิมพ์ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์และนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยหาระดับเฉลี่ยมาตรฐานของเครื่องดนตรีไทย ทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย

ด้านวรรณศิลป์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทความ แปลหนังสือ เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระมหาชนก และพระมหาชนก ฉบับการ์ตูน เรื่อง ทองแดง เป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง เป็นต้น

ด้านการพัฒนาชนบท

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพัฒนาชนบทในรูปโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีจุดประสงค์ คือ การพัฒนาบทเพื่อให้ราษฎรในชนบทได้มีความเป็นอยู่ตลอดจนสามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงครอบครัวให้ดีขึ้น แนวพระราชดำริที่สำคัญในเรื่องการพัฒนาชนบท คือมีพระราชประสงค์ช่วยให้ชาวชนบทสามารถช่วยเหลือพึ่งตนเองได้ โดยการสร้างพื้นฐานหลักที่จำเป็นต่อการผลิตให้แก่ราษฎรเหล่านั้น ทรงส่งเสริมให้ชาวชนบทมีความรู้ในการประกอบอาชีพตามแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ยังทรงหาทางนำเอาวิทยาการสมัยใหม่มาประยุกต์กับภูมิปัญญาชาวบ้าน

ด้านการเกษตรและชลประทาน

เขื่อนภูมิพล
ในด้านการเกษตร จะทรงเน้นการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ ๆ ตลอดจนการศึกษาแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงนอกจากนี้ ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่เกษตรกรควรมีรายได้จากกิจกรรมอื่นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง

ด้านการแพทย์

โครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในระยะแรกล้วนแต่เป็นโครงการด้านสาธารณสุข ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรตามท้องที่ต่าง ๆ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และล้วนเป็นอาสาสมัคร โดยเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์พร้อมให้การรักษาพยาบาลราษฎรผู้ป่วยไข้

นอกจากนั้น ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทานซึ่งเป็นพระราชดำริให้ทันตแพทย์อาสาสมัครเดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันโดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนั้น หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทางไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย

ด้านการศึกษา

พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อสนับสนุนทางด้านคัดเลือกบัณฑิตในสาขาวิชาต่าง ๆ ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยพระองค์ออกทุนให้ตลอดจนดูแลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในต่างประเทศนั้น ๆ อีกด้วย

ส่วนในประเทศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดการบริหารทางการศึกษา แบบให้เปล่าตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในลักษณะทั้งอยู่ประจำและไปกลับ แบ่งเป็น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 26 โรงเรียน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จำนวน 14 โรงเรียน

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงจัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมาก ตัวอย่างโครงการที่สำคัญ เช่น

มูลนิธิชัยพัฒนา ก่อตั้งเมื่อ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2531 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพัฒนาอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจ และสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้

มูลนิธิโครงการหลวง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น

โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2504 มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน เพื่อศึกษา ทดลองและวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่างๆ เช่น การปลูกข้าว การเลี้ยงโคนม การเพาะพันธุ์ปลานิล และอื่นๆ อีกมากมาย

โครงการแก้มลิง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย หลังเกิดอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2538 โดยให้จัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว เมื่อถึงเวลาที่คลองพอจะระบายน้ำได้จึงค่อยระบายน้ำจากส่วนที่กักเก็บไว้ออกไป

โครงการฝนหลวง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 เพื่อแก้ปัญหาเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน มีฉบับปกติ 37 เล่ม ฉบับเสริมการเรียนรู้ 19 เล่ม เริ่มพิมพ์ครั้งแรกในพ.ศ. 2516 เป็นสารานุกรมไทยแบบเป็นชุด เน้นความรู้ที่เกิดขึ้นและใช้อยู่ในประเทศไทย แต่ละเล่มรวบรวมเนื้อเรื่องจากหลากหลายสาขาวิชา เนื้อหาของเรื่องต่างๆ เรียบเรียงให้เหมาะสมกับเด็กรุ่นเล็ก เด็กรุ่นกลาง และเด็กรุ่นใหญ่

โครงการแกล้งดิน เพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว หรือดินเป็นกรด โดยมีการขังน้ำไว้ในพื้นที่จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัด จนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออกและปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้

 

ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย และภาพจากเว็บไซท์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ