ศจ.วิลเลี่ยม บุทเชอร์ เกิดเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1911 ที่ประเทศอังกฤษ อีก 18 ปีต่อมา หนูน้อย บุทเชอร์ ได้เติบโตขึ้นจนเป็นหนุ่มใหญ่ และในปี 1929 เด็กหนุ่มคนนี้ได้เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศจีน และกลับบ้านด้วยความรู้สึกที่ไม่ดีต่อประเทศจีน ถึงกับกล่าวขึ้นมาประโยคหนึ่งว่า “ผมจะไม่ย้อนกลับมาประเทศจีนอีกเลยตลอดชีวิตผม นอกเสียจากว่าในโลกนี้ไม่มีประเทศอื่น ๆ ให้ผมเลือกอีกแล้ว”
แต่แล้ว ในปี 1936 ตรงกันวันที่ 30 พ.ย. วิลเลี่ยม บุชเชอร์ ได้กลายมาเป็น มิชชั่นนารี ผู้เผยพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และเดินทางเข้ามาในประเทศจีนที่ตอนแรกได้ปฏิญาณไว้ว่า จะไม่มาเหยียบที่นี่อีก แต่พระเจ้าทรงมีแผนการ และนี่คือจุดเริ่มต้นของพันธกิจในชีวิต วิลเลี่ยม บุทเชอร์ หลังจากอยู่ในประเทศจีนได้ 2 ปี วิลเลี่ยม บุชเชอร์ ก็ได้แต่งงานกับหญิงชาวอังกฤษชื่อ เอลซี่ ( Elsie) หรือที่เรียกกันติดปากว่า แหม่มบุชเชอร์ ท่านทั้งสองได้แต่งงานกันก่อนวันคริสตมาสหนึ่งคืน คือในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ 1938
ในเวลานั้นการรับใช้ต้องเผชิญกับความยากลำบากนานัปการ โดย เฉพาะอย่างยิ่งจากการถูกกล่าวหาจากทหารญี่ปุ่นว่าเป็นสายลับ เพราะในเวลานั้นทหารญี่ปุ่นได้บุกเข้าไปยังประเทศจีนในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งกว่าท่านจะพิสูจน์ให้ทหารญี่ปุ่นเชื่อว่าพันธกิจของท่านไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองใดๆ ก็ทำเอาแทบเอาชีวิตไม่รอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนของท่านที่ชื่อ อลัน เบนสัน
สองปีต่อมา วิญญาณด้านพันธกิจของท่านดูเหมือนจะแผ่ซ่านอยู่ในทุกส่วนในชีวิตของท่าน จริงๆ ท่านได้พาครอบครัวกลับไปประเทศจีนอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ท่านได้ลงไปที่ ยูนาน ชึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน หลังจากที่ได้ให้ลูกคนโตไปอาศัยอยู่กับมิชชั่นนารีอีกคนหนึ่งที่คุนหมิง แล้วท่าน และภรรยากับลูกคนเล็กก็เดินทางต่อไปด้วยความยากลำบาก ส่วนมากจะอาศัยม้าเป็นพาหนะ สัมภาระต่างๆ ก็ผูกไว้บนหลังม้า จนกระทั่งไปถึงเมืองโฮกิง หลังจากรับใช้พระเจ้าอยู่ประมาณ 5 ปี ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็เข้ามาในประเทศจีน ท่านจึงต้องย้อนมาพบลูกที่คุนหมิง แล้วทั้งครอบครัวก็จำเป็นต้องอพยพจากคุนหมิงไปที่เมืองคาวาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 2 มกราคม 1950
เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของท่านอาจารย์บุชเชอร์ ท่านยังไม่ทันตั้งตัว หรือเตรียมใจใดๆ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจอย่างมาก ทั้งต้องเผชิญกับปัญหาด้านภาษา และวัฒนธรรมอย่างมากอีกด้วย ถึงแม้ว่ารูปร่างหน้าตาของคนญี่ปุ่นจะดูไม่แตกต่างกับคนจีนเท่าไรนัก แต่ว่าวัฒนธรรม การแต่งตัว ภาษา และอาหารการกินนั้นแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารประเภทซาเซมิ หรือปลาดิบ และรสชาติที่ไม่คุ้นลิ้นของท่านอีกชนิดที่เรียกกันว่า สุกี้ยากี้ เป็นต้น เวลาท่านไปเยี่ยมเยี่ยนก็จะกินอาหารญี่ปุ่นแต่ที่บ้านจะทำอาหารแบบฝรั่งบ้าง แบบจีนบ้างสลับกันไป
อุปสรรคต่างๆ เหล่านี้หาได้ทำให้ท่านย่อท้อไม่ ท่านได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะต้องเริ่มพันธกิจขึ้นที่เมืองนี้ให้ได้ ท่านจึงได้เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น ซึ่งฟังเสียงดูแล้วขรุขระไปหมด ไม่รื่นหูเหมือนภาษาจีน ต่อมาอีกไม่นานพันธกิจของท่านก็เริ่มขึ้นอีกครั้งที่เมืองคาวาซากิ และที่นี่เอง แหม่มบุชเชอร์ก็คลอดลูกคนที่สามเป็นหญิงชื่อ ” เดียดรี้ “
ในต้นฤดูใบไม้ผลิปี 1953 บุชเชอร์ ก็ได้รับจดหมายจากกรรมการส่งเสริมมิชชั่นนารีอังกฤษให้กลับไปอังกฤษ ในช่วงนี้เองเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของท่าน ท่านได้ออกเดินทางจากประเทศญี่ปุ่นไปเยี่ยมญาติพี่น้องของท่านที่เมนิโทนา ประเทศแคนาดา ตรงนี้เองท่านได้เริ่มพันธกิจใหม่อีกครั้งหนึ่งตามการทรงนำของพระเจ้า และในระหว่างนี้ท่านก็ได้ย้ายสังกัดจากกรรมการส่งมิชชั่นของประเทศอังกฤษมา ที่กลุ่มชาวแคนาดา
ในเดือนสิงหาคม 1961 ครอบครัวบุชเชอร์ก็ได้ออกจากประเทศแคนาดา มุ่งสู่ฮ่องกง เพื่อช่วยงานพันธกิจที่นั่น หลังจากที่ท่านได้ช่วยงานพันธกิจ ฮ่องกงเพียงสามเดือน ท่านก็ต้องอพยพครอบครัวอีกครั้งหนึ่งโดยเดินทางด้วยเรือจากฮ่องกงมุ่งสู่ ประเทศไทย
ที่ท่าเรือท่านได้พบกับมิชชั่นนารีชาวฟินแลนด์ไปคอยรับท่านและอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ รวมทั้งเรื่องที่ต้องติดต่อกับกรมตรวจคนเข้าเมือง และเรื่องที่พักอาศัย
ที่กรุงเทพ ท่านต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ อีกตามเคย เช่นบ้านที่ท่านเช่าอยู่นั้นจะมีแขกรับเชิญมากมาย เช่น จิ้งจก หนู มด และแมลงสาบ มีข้อความหนึ่งท่านเขียนไปเล่าให้พี่น้องที่คานาดาฟังว่า “หลังจากที่กินข้าวเสร็จ เ ราก็เอาช้อนวางบนโต๊ะ พอเราเดินห่างจากโต๊ะมาไม่ถึง 10 นาที เมื่อเรากลับไปอีกครั้งหนึ่งก็พบว่ามีแมลงสาบสองตัวกำลังกินอาหารจากช้อนที่วางไว้คันนั้น
หกเดือนแรกในกรุงเทพท่านจะขะมักเขม้นในการเรียนภาษาไทยเป็นอย่างมาก แต่จิตใจที่รุ่มร้อนไปด้วยงานพันธกิจที่อยากให้เกิดขึ้นเร็วๆ ดังนั้นในขณะที่ยังเรียนภาษาไทยได้ไม่มากนัก ก็มีอาจารย์จากโรงเรียนพระคริสตธรรมเบ็ธเอล คืออาจารย์ลิ้มและภรรยา ได้มาทาบทามท่านให้ไปสอนนักเรียน พระคริสตธรรมแห่งนี้เองที่ท่านได้พบกับอาอี๊คนนึงที่ยอมเปิดบ้านเพื่อให้เป็นสถานที่นมัสการ บ้านของอาอี๊ตังอยู่บนชั้นที่ 5 ของตึกหลังโรงภาพยนต์เท็กซัส ซึ่งเป็นแฟลตในย่านเยาวราช ห้องที่ใช้นั้นไม่มีหน้าต่างเลยแม้แต่บานเดียว กว้างประมาณ 5 เมตรสี่เหลี่ยม ปรากฎว่าพระเจ้าอวยพรมีคนมานมัสการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 20 คน ก็เต็มห้อง
ในระยะเวลาต่อมา ทางสำนักงานใหญ่ในประเทศแคนาดา ได้ส่งผู้อำนวยการด้านพันธกิจโพ้นทะเล (Executive Director of Oversea Mission) มาเยี่ยมดูงานในประเทศไทย ในครั้งนั้นอาจารย์บุชเชอร์ได้รับสัญญาณให้หาบ้านเช่าเพื่อขยายงานด้านพันธกิจกับชาวจีนให้มากขึ้น ท่านจึงได้เช่าตึกแถวสามชั้นมีสองห้องติดกัน ในบริเวณตรอกถั่วงอก วงเวียนยี่สิบสองกรกฎา ซึ่งเดิมเจ้าของใช้เป็นโกดังเก็บสินค้า เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นเขตขนส่งสินค้าในประเทศ หลังจากใช้เวลาทำความสะอาด และตกแต่งทาสีจากบรรดาสมาชิกทั้งหลายจนเรียบร้อย ก็ได้เปิดคริสตจักรในเดือนพฤษภาคมปี 1963 โดยใช้ชื่อว่า “คริสตจักรพระเจ้าทรงเรียก”
พันธกิจของพระเจ้าภายใต้พันธกรที่ชื่อว่า วิลเลี่ยม บุชเชอร์ ทาได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ไม่ วันหนึ่งท่านได้รับใบปลิวที่ได้ได้ออกไปแจกพร้อมกับบรรดาสมาชิกเมื่อสามสัปดาห์ก่อน ใบปลิวใบนั้นถูกส่งมาจากเรือนจำ เนื่องจากผู้ที่ได้รับใบปลิว ถูกตำรวจจับในคดียาเสพติด ใบปลิวมีจดหมายแนบมาด้วยมีเนื้อหาว่า ขอให้อาจารย์บุชเชอร์ เข้ามาประกาศเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ในเรือนจำด้วย พันธกิจในเรือนจำจึงได้เกิดขึ้นในเวลาต่อมา เนื่องจากมีผู้รับเชื่อในเรือนจำหลายคน
ในเดือนมิถุนายน 1965 อาจารย์บุชเชอร์ ที่จะเดินทางกลับไปประเทศแคนาดา หลังจากที่ท่านเดินทางไปถึง ก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย แต่ได้เดินทางออกเยี่ยมเยี่ยนคริสตจักรต่าง ๆ และประชาสัมพันธ์งานพันธกิจในประเทศไทยตลอดเวลา ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ท่านได้เข้าไปปรึกษากับเลขาธิกาของคณะ เพื่อหารือในเรื่องการสร้างโรงเรียนพระคริสตธรรมในประเทศไทย และนี่เองคือ พันธกิจสุดท้ายของท่าน ในเดือนธันวาคม ก่อนคริสตมาส ปี 1965 ท่านได้จากไปอยู่กับพระเจ้าด้วยอุบัติเหตุที่ท่านขับรถไปชนกับรถบรรทุกที่เรียกว่า แทรกเตอร์-เทรเลอร์ เวลา 18.15 น. ที่ประเทศแคนาดา
แม้ท่านจะจากไปอยู่กับพระเจ้าแล้ว แต่สิ่งที่ท่านได้ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังนั้นมีค่ามากมายมหาศาล การงานที่ท่านได้กระทำไว้ เป็นต้นแบบของพันธกรที่มีหัวใจในงานพันธกิจ “ชื่อของท่านจะเป็นที่จดจำและจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของคริสตจักรใจสมานตลอดไป”
เรียงเรียงจากบทความ “ก่อนจะเป็นใจสมาน” โดย อาจารย์ประยูร ลิมะหุตะเศรณี