คำพิพากษา ศาลฎีกา ที่ 13566/2558 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 อ่านและเผยแพร่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม2016 ที่ศาลแพ่ง ในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 18008/2533 ที่มี นายยัสวินเดอร์ปาลซิงห์สัจเดว เป็นโจทก์บริษัท คิงดัม พัฒนา จำกัด เป็น จำเลย และมี ศจ.มนูญศักดิ์ กมลมาตยกุล กับชาวใจสมานรวม 432 คน เป็นผู้ร้อง ซึ่งคำพิพากษาของศาลฏีกามีประเด็นและสาระสำคัญ โดยย่อ ดังนี้
1. ที่ดินโฉนดเลขที่ 3477 อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 45.2 ตารางวา และอาคารคอนกรีต เลขที่ 10-12 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดิน ซอยใจสมาน ถนนสุขุมวิท ซอย 6 เป็นโบสถ์และที่ดินที่ตั้งโบสถ์ของคริสตจักรใจสมาน อันเป็นศาสนสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ อยู่ภายใต้การดูแลของ คณะ พสท.สังกัด สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย โดยขึ้นอยู่กับกรมการศาสนา ( คำพิพากษาศาลฏีกา หน้าที่ 38 )
2. คริสตจักรใจสมาน ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่มิชชันนารีชาวแคนาดา 3 คน ที่มาเสียชีวิตในประเทศไทย ซึ่งมิชชันนารีชาวแคนาดารุ่นต่อมาได้รวบรวมเงินบริจาค มาซื้อที่ดินและอาคารไม้ 3 หลัง ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดิน แล้วจัดตั้งเป็นคริสตจักรในปี 1972 ( คำพิพากษาศาลฏีกา หน้าที่ 39 )
3. ปี 1979 มีการรื้อถอนอาคารไม้เดิม เพื่อทำการก่อสร้างอาคารโบสถ์ในหลังปัจจุบัน เงินค่าก่อสร้างมาจาก การบริจาคของคริสเตียนชาวไทยและแคนาดา วันที่ 30 เมษายน 1979 คริสตจักรใจสมานได้จัดให้มีพิธีการมอบถวายพระวิหารอาคารพิพาท ซึ่งเป็นโบสถ์แด่พระเจ้าตามหลักของคริสตศาสนาเช่นเดียวกันกับอาคารโบสถ์ไม้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จมาเป็นประธานในพิธี หลังจากนั้นได้ใช้อาคารเป็นศาสนสถาน จัดพิธีนมัสการพระเจ้า , พิธีรับบัพติศมาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ , พิธีบัพติศมาในน้ำ , พิธีมหาสนิท , พิธีต้อนรับองค์พระเยซูคริสต์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด เช่นเดียวกันกับสมัยที่ยังเป็นโบสถ์ไม้ ( คำพิพากษาศาลฏีกา หน้าที่ 40 )
4. ศาลฏีกา พิจารณาแล้ว เห็นว่า ที่ดินแปลงที่ตั้งโบสถ์ใจสมาน และอาคารโบสถ์ใจสมาน ไม่ใช่ ที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคาร บ้านเรือนของเอกชนธรรมดาทั่วไป เป็นศาสนสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ เช่นนี้ถือได้ว่า คริสตจักรได้แสดงเจตนาอุทิศที่ดินและอาคารโบสถ์ให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อให้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไปแล้ว และถือว่า บริษัท คิงดัม พัฒนา จำกัด จำเลย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับโบสถ์ใจสมาน บริษัท คิงดัม พัฒนา จำกัด จำเลย จึงแสดงเจตนาอุทิศที่ดินและอาคารโบสถ์ใจสมานให้เป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วยเช่นกัน ( คำพิพากษาศาลฏีกา หน้าที่ 45 )
5. การแสดงเจตนาอุทิศให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์แล้ว ศาลฏีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ที่เคยวินิจฉัยแตกต่างไปจากนี้ ( คำพิพากษาศาลฏีกา หน้าที่ 46)
6. สิทธิของผู้ร้องทั้งหมด ศาลฎีกา เห็นว่า เป็นสิทธิเด็ดขาดสามารถจะใช้สิทธิอ้างตอนไหน เมื่อใดก็ได้ ไม่จำต้องร้องสอดตั้งแต่แรกเริ่มต้นคดีในปี 1989 จะใช้สิทธิยื่นชั้นบังคับคดีในปี 2003 อย่างที่ยิ่นคำร้องต่อศาลมานี้ ก็ย่อมทำได้ ศาลฏีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ที่เคยวินิจฉัยแตกต่างไปจากนี้ ที่ศาลอุทธรณ์เคยวินิจฉัยตัดสิทธิผู้ร้องว่าการไม่ยื่นคำร้องต่อสู้ โต้แย้งตั้งแต่ตันเป็นพิรุธ ( คำพิพากษาศาลฏีกา หน้าที่ 47 )
7. สัญญาการซื้อขายที่ดินในปี 1988 , สัญญาการจำนองที่ดินในปี 1979 , คำมั่นหรือมติประชุมคริสตจักรฯที่ว่าจะย้ายออกไปจากที่ดินในปี 1999 ไม่มีผลลบล้างทำให้ที่ดินแปลงที่ตั้งโบสถ์ใจสมาน และอาคารโบสถ์ใจสมานที่ได้ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอย่างสมบูรณ์แล้วในปี 1972 ได้เลย ( คำพิพากษาศาลฏีกา หน้าที่ 48 )
8. สัญญาการซื้อขายที่ดินในปี 1988 ระหว่างนายยัสวินเดอร์ปาลซิงห์สัจเดว โจทก์ กับบริษัท คิงดัม พัฒนา จำกัด จำเลย ให้เป็นปฐมเหตุแห่งคดีนี้ ขัดต่อกฎหมาย มีผลเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ผู้ร้องทั้งหมดถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียสามารถยกขึ้นกล่าวอ้างโต้แย้งต่อโจทก์ได้ โมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงที่ตั้งโบสถ์ใจสมาน และอาคารโบสถ์ ใจสมาน ( คำพิพากษาศาลฏีกา หน้าที่ 48 )
9. ผู้ร้องทั้งหมดไม่ใช่บริวารของบริษัท คิงดัม พัฒนา จำกัด จำเลย ไม่จำต้องถูกบังคับคดีให้ถูกขับไล่ให้ออกไปจากที่ดินตาม บริษัท คิงดัม พัฒนา จำกัด จำเลย และคดีในชั้นเดิมมีเพียงว่า ตาม สัญญาการซื้อขายที่ดินในปี 1988 ระหว่างนายยัสวินเดอร์ปาลซิงห์สัจเดว โจทก์ กับบริษัท คิงดัม พัฒนา จำกัด จำเลย ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่ใช่เป็นคำพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ใน ที่ดินแปลงที่ตั้งโบสถ์ใจสมาน และอาคารโบสถ์ใจสมาน อันที่จะมีผลผูกพันผู้ร้องทั้งหมดที่เป็นบุคคลภายนอกสัญญาซื้อขาย และเนื่องจากคดีนี้เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกา เห็นสมควรให้มีผลถึงผู้ร้องที่ไม่อุทธรณ์ และไม่ฎีกา ที่ยังไม่ได้ถอนคำร้องและที่ยังไม่ได้ถอนอุทธรณ์ ซึ่งหมายความว่าผู้ร้องคนใดที่ไม่ได้ยื่นฎีกาแต่ไม่เคยถอนตัวจากคดีให้ถือว่าเป็นผู้ชนะคดีร่วมกันกับผู้ร้องอื่นไปทั้งหมด ( คำพิพากษาศาลฏีกา หน้าที่ 49 )
10. ผู้ร้องที่เคยถูกฟ้องคดีเป็นจำเลยที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้และเป็นฝ่ายแพ้คดี แม้คดีจะถึงที่สุดไปแล้ว แต่โดยผลของคำพิพากษาศาลฏีกานี้ซึ่งถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นกฎหมาย ซึ่งคำพิพากษานี้ฟังเป็นยุติแล้วว่า ที่ดินแปลงที่ตั้งโบสถ์ใจสมาน และอาคารโบสถ์ใจสมาน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน คำพิพากษาของศาลใดๆที่เคยพิพากษาแตกต่างไปเป็นอื่นมาก่อนหน้านี้ถือว่าให้สิ้นผล และศาลฏีกาไม่ให้มีคำพิพากษาของศาลใดๆที่เป็นศาลล่างมาขัด หรือ แย้ง กับ คำพิพากษาของศาลฏีกา ที่ได้วินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้วว่า ที่ดินแปลงและอาคารโบสถ์ใจสมาน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ได้อีกต่อไป ( คำพิพากษาศาลฏีกา หน้าที่ 51 และ 52 )
“ขอให้เหตุการณ์ช่วยกู้ครั้งยิ่งใหญ่นี้ เป็นสิ่งที่ถวายเกียรติพระเจ้า และเป็นที่หนุนใจคริสตชนให้มีความ เชื่อในการดำเนินชึวิตติดตามพระเจ้า ตราบนานเท่านาน จนกว่าพระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมา”
สรุปย่อประเด็นโดย ทนายธนาชัย นิติสโมสร มัคนายกฝ่ายกฎหมาย คริสตจักรใจสมาน เผยแพร่งานชิ้นนี้ โดยได้รับความยินยอมจาก คริสตจักร ใจสมานแล้ว / บริษัท ครีเอตุส แอนด์ ธนาชัย อินเตอร์เนชั่นแนล ลอว์ จำกัด
27 กรกฎาคม 2016