ชีวิตครอบครัวเป็นมุมหนึ่งของชีวิตผู้รับใช้พระเจ้า ขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของคนในครอบครัว ผู้รับใช้พระเจ้าหลายคนต้องเลิกกล้มพันธกิจการรับใช้เพราะมีอุปสรรคในครอบครัว ไม่ว่าท่านจะจบปริญญาศาสนศาสตร์บัณฑิต สอนพระคัมภีร์ เทศนาเก่งแค่ไหนก็ไปไม่รอด ถ้าท่านมีปัญหาในครอบครัว ดร.เอ.บี ซิมสัน ผู้ก่อตั้งคณะซึ.เอ็ม.เอ.มิชชั่น เมื่อ100 กว่าปีมาแล้ว กล่าวว่า “ข้าพเจ้ารับใช้พระเจ้าและผ่านอุปสรรคนานาชนิดมาได้ก็เพราะมีภรรยาที่ดีอยู่เบื้องหลัง เธอเป็นพลังที่ผลักดันให้ข้าพเจ้ามีความกล้า ความอดทนและการอุทิศชีวิตเพื่อพระเจ้า”
ในฐานะที่ผมเป็นผู้รับใช้พระเจ้ามาถึง 27 ปี และแต่งงานมาแล้ว 23 ปี ผมก็อยากจะนำข้อคิดมาแบ่งปันเพื่อผู้รับใช้พระเจ้าด้วยกันว่า จะพัฒนาชีวิตด้านครอบครัวอย่างไรจึงจะเสริมสร้างตัวเองและพันธกิจของพระเจ้าให้ประสบความสำเร็จ ก่อนอื่นผมจะต้องออกตัวไว้ล่วงหน้าว่าสิ่งที่ผมจะนำมาแบ่งปันนี้ไม่ใช่เป็นสูตรสำเร็จรูป ที่รับประกันผลลัพธ์เหมือน 2+2=4 แต่เป็นเพียงหลักทั่วไปที่สามารถนำมาประยุกต์กับชีวิตผู้รับใช้ได้เท่านั้น

ชีวิตด้านครอบครัว หรือ ชีวิตการแต่งงานนี้เป็นชีวิตที่ผสมผสานกันทั้งความสุขและความทุกข์ มีทั้งน้ำตาและเสียงหัวเราะระคนกันไป คุณพ่อคุณแม่ฝ่ายวิญญาณของผมเป็นมิชชันนารีที่ปลดเกษียณแล้วเมื่อปี 1988 ท่านทั้งสองฉลองครบรอบการแต่งงาน 65 ปี ท่านบอกว่า “อายุการแต่งงานก็เหมือนกับอายุของร่างกาย ทุกปีที่ผ่านไปโดยจะต้องโตเป้นผู้ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ” คำพูดนี้ทำให้ผมตระหนักกับตัวเองว่า ผมแต่งงานมาแล้ว 23 ปีมาแล้ว ชีวิตสมรสของผมโตกว่าหรือดีกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วไหม จะทำอย่างไรจึงจะพัฒนาชีวิตด้านครอบครัวให้ดี คงเล้นคงวาหรือดีกว่าเดิมได้ผู้รับใช้พระเจ้าต้องตระหนักอยู่เสมอว่าตัวเองมีครอบครัวอยู่ 5 ประการ ซึ่งพอจะสรุปได้โดยย่อดังนี้

ประการแรก ความรับผิดชอบชีวิตด้านจิตวิญญาณของตัวเองต่อพระเจ้า นั้นหมายถึงการเข้าเฝ้าพระเจ้าส่วนตัว การอธิษฐานและการอ่านพระวจนะเพื่อความสัมพันธ์กับพระองค์ ผู้รับใช้ส่วนมากหาเวลาสงบๆ ส่วนตัวยาก เพราะฉะนั้นจึงละเลยเรื่องนี้ และในที่สุดเมื่อเผชิญปัญหาจึงทำให้เรือชีวิตอับปางได้ ที่ทำงานของผมเปิดทำงานเวลา 8.00น. แต่ผมจะมาถึงสำนักงานเวลา 06.30น. ทุกวัน เพื่อมีเวลาอยู่เงียบๆ กับพระเจ้าส่วนตัว

ประการที่สอง ความรับผิดชอบต่อภรรยาและลูก ครั้งหนึ่งผมเคยเป็นพนักงานขององค์การแคมปัตคูเสต ประธานใหญ่ขององค์การคือ ดร.บิล ไบร้ท เคยย้ำเสมอว่า “สาวกพวกแรกที่คุณจะต้องสร้างให้เติบโตอย่างดีที่สุดคือภรรยา (สามี) และลูกๆของคุณ” แน่นอนครับ ถ้าคู่สมรสของเราและลูกๆของเรายังไม่ได้ดำเนินชีวิตที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า คนอื่นเขาจะศรัทธาในองค์พระเยซูคริสต์ของเราอย่างไรได้?

ประการที่สาม ความรับผิดชอบต่อผู้ร่วมงาน ไม่ว่าผู้รับใช้จะทำงานในคริสตจักร หรือในองค์การย่อมจะต้องมีผู้ร่วมงาน ท่านมีความรับผิดชอบต่อจิตวิญญาณของคนเหล่านั้นมากน้อยเพียงไร ถ้าระดับจิตวิญญาณของผู้ร่วมงานของท่านอ่อนแอ พันธกิของพระเจ้าที่ท่านรับผิดชอบก็จะอ่อนแอไปด้วย

ประการที่สี่ ความรับผิดชอบต่อพันธกิจโดยตรง โดยทั่วไปแล้วผู้รับใช้ระดับผู้นำจะทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับพันธกิจซึ่งมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยเหตุนี้ผู้รับใช้หลายคนเห็นผลงานก้าวหน้าในทางปริมาณ แต่ขาดคุณภาพ เพราะเหตุว่าความรับผิดชอบต่อจิตวิญญาณตัวเอง ต่อครอบครัว และต่อผู้ร่วมงานถูกละเลยอย่างสิ้นเชิง

ประการที่ห้า ความรับผิดชอบต่อสังคม ผู้รับใช้พระเจ้าอยู่ในสังคม ประเทศชาติ เราจะต้องดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างต่อคนที่ไม่เชื่อในด้านการเสียภาษีอากร การไปเลือกตั้งบุคคลที่จะมาบริหารประเทศบ้านเมือง การสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาบ้านเมือง เป็นต้น

จะขอย้อนมากล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาครอบครัวต่อไป เมื่อผมแต่งงานใหม่ๆ ผมเข้าใจว่าพระเจ้าจะอวยพรชีวิตครอบครัวของผมให้ราบรื่นเสมอในฐานะผู้รับใช้พระองค์ แต่ผมกลับพบว่าปัญหาชีวิตสมรสไม่เลือกหน้าผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกธรรมดาหรือศิษยาภิบาลที่เคยเทศนาอย่างโชกโชนมาแล้ว เผชิญปัญหาเท่ากันหมด ครั้งหนึ่งเมื่อผมเป็นครูสอนโรงเรียนพระคริสตธรรม ผมได้นำทีมนักศึกษาซึ่งเป็นกองประกาศของโรงเรียนตระเวณไปตามจังหวัดต่างๆในเทศกาลคริสตมาส ผมกลับมาบ้านด้วยความตื่นเต้นเพราะมีคนเชื่อพระเจ้ามาก ผมวิ่งไปหาภรรยาเพื่อจะให้เขาแสดงความยินดีด้วย แต่แล้วผมต้องงงไปหมดเพราะภรรยาไม่ยอมพูดกับผม ซึ่งภายหลังผมต้องขอโทษและปลอบใจเขาเพราะว่าในช่วงเทศกาลคริสตมาสนั้น เขาว้าเหว่มากเมื่อผมไม่อยู่บ้าน โดยเหตุนี้ผู้รับใช้จะต้องไม่มองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป

อะไรบ้างคือปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นกับชีวิตภรรยาของผู้รับใช้ได้

1.ความเหงาและความเปลี่ยวใจ
ความอ้างว้างเปลี่ยวใจอาจเกิดขึ้นได้จาก
– การเดินทางบ่อยๆของสามี
– ภรรยาอยู่เฉยๆโดยไม่มีกิจกรรมอะไรทำ
– การที่ภรรยาไม่ได้ร่วมพันธกิจอย่างลึกซึ้งด้วยกันกับสามี
‏- ความเหงาจนกลายเป็นความสงสารตัวเอง

2.ขาดการสื่อสารกัน เพราะว่า
– สามีไม่ค่อยเล่าถึงพันธกิจให้ภรรยาฟัง
– สามีคิดว่าภรรยาไม่สนใจในสิ่งที่ตนทำ
– สามีไม่ค่อยพาภรรยาออกสังคมเพื่อรู้จักมักคุ้นกับบรรดาผู้ร่วมงานคนอื่นๆ

3.ความขมขื่นในใจเพราะว่า
– ไม่มีเวลาให้ภรรยาและลูกๆ
– พันธกิจทำให้ภรรยาคิดว่า สามีมีเวลาให้กับคนอื่นมากกว่าตนเอง
– ภรรยาเก็บกด คิดว่าพระเจ้าไม่ยุติธรรมกับตัวเอง

4.ความกังวลและหวดกลัวในเรื่องต่างๆเช่น
– ความปลอดภัยของสามี ลูกๆและตัวเอง
– การเงิน (ภรรยาอาจคิดว่า ถ้าเธอไม่แต่งงานกับผู้รับใช้ ก็คงไม่ลำบากเช่นนี้)
– ความล้มเหลวในชีวิต (ภรรยาอาจคิดว่า ถ้าเธอไม่แต่งงานกับผู้รับใช้ก็คงจะใช้
ชีวิตในอาชีพที่ประสบความสำเร็จ)

5.การทดลอง
– เมื่อขาดความอบอุ่น กอปรด้วยการเดินทางบ่อยๆของสามี อาจจะนำไป
สู่การทดลองในการคบชู้ได้

เราจะพัฒนาและป้องกันปัญหาในครอบครัวได้อย่างไร

1. เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ผู้รับใช้ไม่ควรเอาพันธกิจหรือพระเจ้ามาบังหน้าในการแก้ตัว เราต้องพร้อมที่จะเข้าใจและหาทางแก้ไขถ้าหากภรรยาว้าเหว่ก็ควรจะแบ่งเวลาไว้เพื่อพาไปเที่ยว หรือช๊อปปิ้ง ในปีหนึ่งผู้รับใช้ควรจะหาเวลาพิเศษใช้เวลาที่จะอยู่ด้วยกันโดยไม่มีลูกๆรบกวน ทั้งนี้เพื่อรื้อฟื้นรักโรแมนติกให้คุกรุ่นอยู่เสมอ

2. ฝึกวินัยในการบริหารเวลา และอย่าลืมที่จะใส่กิจกรรมของครอบครัวลงไปในตารางเวลาด้วย เช่นวันเกิดของภรรยา ของลูก และวันสำคัญ เช่นครบรอบวันแต่งงาน เป็นต้น

3. เมื่อเดินทางไปต่างถิ่น ควรจะซื้อของฝากลูกและภรรยาด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ครอบครัวรู้ว่าเรารักและห่วงเขา ถ้าหากไปนานๆ ก็ควรเขียนจดหมายหรือโทรศัพท์มาบ้านด้วยถ้าเป็นได้

4. ควรมีเวลาให้ลูกๆด้วย ถ้านัดลูกว่าจะพาเขาไปเที่ยว ต้องพาไปตามนัดจริงๆ หากมีเรื่องด่วนเกิดขึ้นไปไม่ได้ ก็ควรจะหาสิ่งอื่นทดแทนซึ่งจะไม่ทำให้พวกเขาผิดหวัง หรือเสียกำลังใจมากจนเกินไป การมีเวลาให้ลูกๆถึงแม้ว่าจะเป็นเวลาน้อยก็ขอให้เป็นเวลาที่ชื่นชอบจริงๆ ไม่ใช่บ่นพึมพำถึงงานอยู่ตลอดเวลา จะทำให้พวกเขาอึดอัดใจ เมื่อลูกคนที่สองของผมยังเล็กอยู่ เขาบอกว่า “พระเจ้าไม่รักหนูหรอก เพราะพระเจ้าทำให้พ่อเดินทางจากหนูไปบ่อยๆ”

5. กิจกรรมอะไรก็ตามที่จะเอาเวลาของท่านมากเกินไป จนจะทำให้ท่านเกิดปัญหาในครอบครัว กิจกรรมนั้นควรจะตัดออกได้แล้ว อย่าลืมว่า ถ้าครอบครัวแตกร้าว ท่านจะเป็นนักเทศน์ลิ้นทองสักปานใด แต่เสียงของท่านก็เป็นเหมือนฉิ่งและฉาบเท่านั้นเอง

6. พระวจนะของพระเจ้ามีฤทธิ์อำนาจที่จะสร้างและพัฒนาครอบครัวผู้รับใช้เพราะฉะนั้นควรจะอบรมให้ลูกๆและภรรยารอบรู้ในพระวจนะอย่างแท้จริง

ชีวิตครอบครัวคือ ฐานการรับใช้พระเจ้า หวังว่าผู้รับใช้ทุกท่านจะทะนุถนอม พัฒนาอารักขาฐานของท่านให้มั่นคง เพื่อพันธกิจของท่านจะมั่นคงและประสบความสำเร็จได้รับพระพรของพระเจ้าตลอดไป

บทความโดย ศจ.ดร.สมดี ภูสอดสี  วันที่ 22/01/2005